บทความวิจัย เรื่อง การวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

การวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

 

พระประเสริฐ     ชาตเมธี (โนไธสง)

 

 

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

ลิลิตเพชรมงกุฎเป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่มีต้นเค้าแตกต่างไปจากวรรณคดีอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียโบราณ วรรณคดีไทยส่วนมากได้เค้าโครงเรื่องมาจากชาดกทางพุทธศาสนา มหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ ส่วนลิลิตเพชรมงกุฎได้เค้าเรื่องมาจากเวตาลปัญจวีสติ ลิลิตเพชรมงกุฎถึงแม้จะไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นลิลิตพระลอ ลิลิตยวนพ่ายและลิลิตตะเลงพ่ายก็จริง แต่เป็นกวีนิพนธ์ที่มีความดีเด่นไม่น้อย ใช้ถ้อยคำสำนวนนิ่มนวล เรียบง่าย เลียนท่วงทำนองลิลิตพระลอได้อย่างใกล้เคียง แต่บางแห่งมีลักษณะพิเศษของตนเอง ประการสำคัญที่สุดก็คือ เป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่มีเนื้อความและคติของเรื่องผิดแผกไปจากวรรณคดีส่วนมากที่ได้อิทธิพลจากอินเดีย ลิลิตเพชรมงกุฎสันนิษฐานว่าน่าจะแต่งระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๒ พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านภางค์นิพัทธพงษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ (อุทัย ชัยยานนท์. ๒๕๔๕ : ๕๖)

หลวงสรวิชิต (หน) หรือชื่อที่พวกเราคุ้นหูคุ้นตากันนักหนาในฐานะผู้แปลเรื่องสามก๊ก คือเจ้าพระยาคลัง (หน) ท่านผู้นี้เป็นกวีมีชื่อเสียงมีชื่อเดิมว่า หน เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦๅชัย (บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ เข้ารับราชการในสมัยกรุงธนบุรี ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต เป็นนายด่านเมืองอุทัยธานี ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) อยู่รับราชการเรื่อยมาจนกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้มีความดีมีความสัตย์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพัฒน์โกศา และเป็นเจ้าพระยาคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์ กรมท่า ทำหน้าที่ควบคุมกิจการหัวเมืองชายทะเล ท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ (เอกรัตน์ อุดมพร. ๒๕๕๒ : ๓๔)

ลิลิตเพชรมงกุฎเป็นผลงานชิ้นเอกของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เนื้อเรื่องเริ่มด้วยการนมัสการนอบน้อมต่อพระอิศวร และไหว้พระมหากษัตริย์แล้วบอกว่าเรื่องนี้นำมาจากนิทานเวตาล ดำเนินเรื่องว่าพระเพชรมงกุฎเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ารัตนนฤเบศร กษัตริย์เมืองศรีบุรี และพระนางประภาพักตร์ พระราชกุมารเพชรมงกุฎนี้ทรงมีพระสิริโฉมงามยิ่งนัก วันหนึ่ง พระราชกุมารเพชรมงกุฎเสด็จประพาสป่ากับพุฒศรีพี่เลี้ยงทั้งสองตามกวางเผือกเข้าไปในป่าลึกจนหลงทางออกไม่ได้ พวกไพร่พลตามเสด็จไม่ทัน และที่ท่ามกลางป่านั้น พระราชกุมารได้ทรงเห็นภริยาของชายคนหนึ่ง ทรงพอพระทัยยิ่งนัก พุฒศรีคัดค้านมิให้พระราชกุมารกระทำอย่างนั้น พระราชกุมารไม่ยอมฟังเสียง ทรงบอกให้พี่เลี้ยงล่อลวงหญิงนั้นมาเป็นภริยาของพระองค์ให้จงได้จนได้เสียกัน จากนั้นได้เสด็จต่อไปยังเมืองกรรณบุรี ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางปทุมดีพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงกรรณบุรี พระธิดาปทุมดีได้แกล้งทำปริศนาให้พระราชกุมารทายว่าพระนางเป็นใคร พุฒศรีพระพี่เลี้ยงก็ปริศนาให้ได้ทุกครั้งไป ในที่สุดพระราชกุมารได้เข้าไปถึงปราสาท ได้พระธิดาเป็นชายา ต่อมาพระพี่เลี้ยงผู้แสนดีคนนี้ได้ออกอุบายให้พระราชกุมารเพชรมงกุฎสามารถพาพระธิดากลับไปยังบ้านเมืองของพระองค์ได้ (เอกรัตน์ อุดมพร. ๒๕๕๒ : ๓๔)

จากความเป็นมาดังกล่าวขางต้นทำให้ทราบว่า วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎเป็นวรรณคดีที่เกิดขึ้นในสมัยธนบุรี เป็นผลงานการแต่งของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) มีเนื้อความและคติของเรื่องที่ผิดแผกไปจากวรรณคดีเรื่องอื่น เพราะได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ดังนั้นผู้วิจัยจึงดำเนินการวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎนี้ เพื่อศึกษาความเป็นมา เนื้อหา และผลของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์จากวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ และเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยในเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎแก่ผู้ที่สนใจต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

การวิจัยเรื่องการวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังต่อไปนี้

๑. เพื่อศึกษาความเป็นมาของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๒. เพื่อศึกษาเนื้อหาของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๓. เพื่อศึกษาผลของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

 

ความสำคัญของการวิจัย

การวิจัยเรื่องการวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎมีความสำคัญของการวิจัยดังต่อไปนี้

๑. ทำให้ทราบความเป็นมา เนื้อหา และผลของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๒. เป็นข้อมูลให้แก่ผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ในทางการศึกษาเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์จากวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๓. เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยในเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎแก่ผู้ที่สนใจต่อไป

 

ขอบเขตของการวิจัย

การวิจัยเรื่องการวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎมีขอบเขตของการวิจัยดังต่อไปนี้

๑. ความเป็นมาของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๑.๑ ประวัติผู้นิพนธ์

๑.๒ เหตุการณ์บ้านเมือง

๑.๓ เหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนา

๑.๔ วิเคราะห์ความเป็นมาของวรรณคดี

๒. เนื้อหาของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๒.๑ ลักษณะคำประพันธ์

๒.๒ เนื้อเรื่องย่อ

๒.๓ เปรียบเทียบกับวรรณคดีอื่น

๒.๔ วิเคราะห์เนื้อหาของวรรณคดี

๓. ผลของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ

๓.๑ คุณค่าของวรรณคดี

๓.๒ ข้อคิดที่ได้จากวรรณคดี

๓.๓ อิทธิพลของวรรณคดี

๓.๔ วิเคราะห์ผลของวรรณคดี

 

ผลการวิเคราะห์วรรณคดี

๑. ผลการวิเคราะห์ความเป็นมาของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ จากประวัติผู้นิพนธ์ พบว่า เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เดิมชื่อ  หน  เป็นบุตรของเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦาชัย ( บุญมี )  และท่านผู้หญิงเจริญ เริ่มรับราชการตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี  ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต  มีหน้าที่เป็นนายด่านแห่งเมืองอุทัยธานี  ครั้นสิ้นกรุงธนบุรี  เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์จักรี  หลวงสรวิชิตก็ได้รับราชการเรื่อยมา  จนได้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง  ท่านแต่งได้ทั้งกาพย์ กลอน  โคลง ฉันท์  ร่าย  และร้อยแก้ว ท่านถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ จากเหตุการณ์บ้านเมือง พบว่า สภาพบ้านเมืองได้รับความเสียหายจากการทำสงครามสมัยอยุธยาตอนปลาย เกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากขาดการทำนามายาวนาน ราคาข้าวสูงเกือบตลอดรัชกาล ก่อนจะค่อยๆลดลงในปลายรัชกาล พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวมาให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ช่วยคนได้หลายหมื่น ทั้งยังกระตุ้นให้ชาวบ้านทั้งหลายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงด้วย จากเหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนาพบว่า พระเจ้าตากสินมหาราชนอกจากจะทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้า ยังทรงเป็นนักศาสนาที่เคร่งครัดด้วย ทรงปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานและทรงฟื้นฟูวัดวาอาราม รวบรวมพระ สงฆ์ที่กระจัดกระจายคราวกรุงศรีอยุธยาแตก ให้กลับคืนสู่วัดของตน ทรงกำจัดพวกสงฆ์อลัชชี ส่งเสริมบำรุงสงฆ์ ผู้ปฏิบัติชอบและโปรดให้รวบรวมคัมภีร์ไตรปิฎก และปกรณ์วิเศษต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายเมื่อคราวเสียกรุง คัมภีร์ใดขาดหล่นหายไป ก็ให้ไปขอฉบับจากต่างประเทศ มีประเทศเขมรเป็นต้นมาคัดลอก แต่น่าเสียดายว่ารัชสมัยสั้นเกินไป

๒. ผลการวิเคราะห์เนื้อหาของวรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ จากลักษณะคำประพันธ์ พบว่า วรรณคดีเรื่อลิลิตเพชรมงกุฎใช้คำประพันธ์ร้อยกรองประเภทลิลิตสุภาพประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพและร่ายสุภาพเพื่อเล่านิทานเรื่อง เพชรมงกุฎ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมเรื่องหนึ่งจาก นิทานเวตาล เป็นวรรณคดีที่ใช้ถ้อยคำสำนวนนิ่มนวล เรียบง่าย และเป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่มีเนื้อความและคติของเรื่องผิดแผกไปจากวรรณคดีส่วนมากที่ได้อิทธิพลจากอินเดีย จากเนื้อเรื่องย่อ พบว่า วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่านิทานและถามตอบปัญหาระหว่างท้าววิกรมาทิตย์กับเวตาล ถ้าท้าววิกรมาทิตย์ตอบถูก เวตาลก็จะยอมเป็นทาส แต่ถ้าตอบผิดเวตาลก็จะขอเศียรของท้าววิกรมาทิตย์ ท้ายที่สุดท้าววิกรมาทิตย์ก็สามารถตอบปัญหาของเวตาลได้ เวตาลก็เลยยอมเป็นทาสตามสัญญา นอกจากนี้ในเนื้อเรื่องยังกล่าวถึงค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยสมัยธนบุรีอีกด้วย จากการเปรียบเทียบกับวรรณคดีอื่น พบว่า วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎกับวรรณคดีเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์มีส่วนที่เหมือนกันคือ ทั้งสองเรื่องเป็นวรรณคดีที่มีต้นเค้ามาจากวรรณคดีอินเดียมีต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤต มีส่วนที่ต่างกันคือ วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎมีลักษณะคำประพันธ์คือประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพและร่ายสุภาพ ส่วนกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ มีลักษณะคำประพันธ์คือเป็นคำฉันและกาพย์

๓. ผลการวิเคราะห์ผลของวรรณกรรมเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ จากด้านคุณค่า วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎเป็นวรรณคดีประเภทลิลิตที่มีความงดงาม สำนวนโวหารราบเรียบ ได้แสดงเนื้อหาสาระที่เป็นคติธรรมให้รู้จักระงับดับกิเลสตัณหา บางตอนผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านจึงจะเข้าใจเนื้อหาสาระอย่างถี่ถ้วน นอกจากนี้คุณค่าของวรรณคดียังคงมีอิทธิพลและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ เช่น แง่คิดเกี่ยวกับความอดทนมุ่งมั่น แง่คิดเกี่ยวกับการใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา แง่คิดเกี่ยวกับการพูดโดยไม่ไตร่ตรอง เป็นต้น จากข้อคิด วรรณคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นความรักที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดในสากลโลกทั้งสิ้น เพราะลูกเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ข้อคิดเกี่ยวกับความเชื่อในกฎแห่งกรรมตามหลักพุทธศาสนา การทำบาปจะทำให้ชีวิตตกทุกข์ได้ยาก จึงทำให้คนสมัยนั้นหวั่นกลัวไม่กล้าทำความชั่ว และความเชื่อความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันแสดงออกถึงค่านิยมความเชื่อของคนสมัยนั้น จากอิทธิพล เป็นที่ทราบกันว่าในสมัยธนบุรีบ้านเมืองยังไม่ค่อยสงบ เนื่องจากได้รับผลจากการเสียกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัยธนบุรีเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง วรรณคดีเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะได้แทรกแง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม พระพุทธศาสนา อีกทั้งรูปแบบในการแต่งยังได้กลายมาเป็นต้นแบบในการแต่งวรรณคดีประเภทลิลิตที่นิยมแต่งในปัจจุบันด้วย

บรรณานุกรม

 

จิราภรณ์ สถิตย์ตระกูล. (ออนไลน์). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี.

http://chiraporn.igetweb.com. (๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๕).

เฉลิมศักดิ์ เปรืองปรีชาศักดิ์. (ออนไลน์). นวัตกรรมการเรียนรู้ : การสถาปนา

           กรุงรัตนโกสินทร์. https://docs.google.com. (๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๕).

วิกิซอร์ซ. (ออนไลน์). ลิลิตเพชรมงกุฎ. http://th.wikisource.org. (๑ มกราคม ๒๕๕๖).

สุพรรณ อรพินท์. (๒๕๔๐). วรรณกรรมเจ้าพระยาพระคลัง (หน). กรุงเทพฯ :

ภาควิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ   มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อุทัย ชัยยานนท์. (๒๕๔๕). วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : น้ำฝน.

เอกรัตน์ อุดมพร. (๒๕๕๒). วรรณคดีสมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์.