พูดจาภาษาครู ตอนเด็กเรียนรู้ได้อย่างไร

พูดจาภาษาครู

ตอนเด็กเรียนรู้ได้อย่างไร

 

                                                                                               โดย อาจารย์เฉลิม เขื่อนทองหลาง

                                                                              อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

 

เด็กมีการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ เด็กที่จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดนั้นโดยมีการกระตือรือร้น ได้ลงมือกระทำ ได้เคลื่อนไหว จับต้องสัมผัส เรียนจากประสบการณ์ตรง เรียนจากสื่อที่เป็นจริง โดยผ่านประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ จากการสำรวจสภาพแวดล้อม และจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคน สัตว์ และสิ่งของ

เด็กเรียนรู้โดยผ่านการเล่น เพราะการเล่นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และการพัฒนาทุกๆ ด้าน นอกจากนี้การเล่นยังช่วยส่งเสริมจินตนาการ ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเป็นการเรียนรู้บทบาทของผู้ใหญ่ด้วย

Mindes (๑๙๘๗) กล่าวว่า การให้เด็กนั่งเรียนอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว นั่งฟังครูอธิบายหรือพูด หรือให้เด็กนั่งทำแบบฝึกหัด อ่าน เขียน ท่องจำ เป็นการเรียนอย่างเป็นทางการ (Formol Education) เด็กขาดที่จะเล่นอิสระ หรือเล่นตามมุมต่างๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมที่อาศัยประสบการณ์ตรง หรือขาดโอกาสเรียนรู้จากการจับต้องสัมผัสหรือทดลองเล่นแร่แปรธาตุด้วยตนเองนั้น เป็นการจัดประสบการณ์ที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก

Elkind (๑๙๗๑) เสนอว่า ในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยหรือระดับก่อนประถมศึกษา ควรพิจารณาว่า เด็กมีลักษณะที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือที่เรียกว่า Egocentric จึงไม่สามารถเข้าใจความคิดของคนอื่น คิดว่าคนอื่นคิดเช่นเดียวกันกับตนเอง เช่น ถ้าเด็กเลือกของขวัญวันเกิดให้คุณแม่ เด็กอาจจะเลือกตุ๊กตาหรือขนมที่ตนชอบให้เป็นของขวัญวันเกิดแก่แม่ การคิดแบบนี้หมายถึงการที่เด็กคิดและเชือกว่าตนเองรู้ทุกอย่างเหมือนผู้ใหญ่ จึงคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติม คิดว่าทุกอย่างอยู่ในสมองหมดแล้ว นอกจากนี้เด็กยังไม่สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการที่ครูเร่งสอนให้เด็กปฐมวัยอ่านและเขียน ควรรอให้เด็กมีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ เมื่ออายุประมาณ ๖-๗ ปี เพราะวิชาต่างๆ มีกฎเกณฑ์ทั้งหลายมาเกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการอ่าน การเขียน สะกดคำ หรือการเรียนคณิตศาสตร์ ล้วนมีกฎเกณฑ์ทั้งนั้น

ดังนั้น ในการจัดประสบการณ์ให้เข้ากับเด็กจึงควรส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกแก้ปัญหา ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เหตุผล ฝึกคิด มากกว่าที่จะเน้นการท่องจำและการเขียน การจัดกิจกรรมควรสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนโดยการลงมือกระทำ ได้จับต้องสัมผัส มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจ และเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อเขา

Vitale (๑๙๙๗ : ๑๕-๑๙) กล่าวว่า การเรียนรู้ควรเริ่มจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมไปสู่กึ่งรูปธรรม และสู่ประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม โดยได้จำแนกระดับในการเรียนรู้ไว้ ๘ ระดับ ดังนี้

๑. การเรียนรู้ในขั้นแรก ควรเกิดจากการที่เด็กมีประสบการณ์ตรง นับเป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนโดยได้เคลื่อนไหวในสภาพแวดล้อม

๒. การเรียนรู้โดยการอาศัยการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิม หรือประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วกับประสบการณ์ใหม่

๓. การเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม นับเป็นการเรียนรู้จากการจับต้องสัมผัสของจริงที่มีลักษณะเป็น ๓ มิติ หรือสิ่งที่สัมผัสได้ทีรูปทรง

๔. การเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงจากสิ่งที่มีลักษณะกึ่งรูปธรรม ได้แก่ สัญลักษณ์ที่เป็น ๒ มิติ รูปภาพ และสี เป็นต้น

๕. การเรียนรู้จากสัญลักษณ์ที่เป็น ๑ มิติ เช่น ตัวหนังสือ ตัวอักษรต่างๆ ตัวเลข หรือคำจากสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย เป็นต้น

๖. การเรียนรู้โดยการหยั่งรู้หรือเห็นด้วยตาใน เป็นการนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ โดยการจินตนาการหรือเห็นภาพได้โดยไม่ต้องมีตัวอย่างให้ดู

๗. การเรียนรู้โดยใช้สัญลักษณ์อย่างต่อเนื่องหรือเชื่อมโยงสัญลักษณ์ เป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้จากขั้นที่ ๑ ถึง ขั้นที่ ๖ เข้าด้วยกัน การเรียนรู้ลักษณะนี้มักปรากฏในเรื่องของการเรียนการสอน

๘. การเรียนรู้โดยการประยุกต์ใช้ เป็นการนำประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยประสบมาแล้วนำมาใช้หรือสร้างประสบการณ์ใหม่

จากระดับในการเรียนรู้ทั้ง ๘ ขั้น จะเห็นว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีนั้นต้องเกิดจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ง่ายที่สุด ไปสู่ประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมเกี่ยวกับสัญลักษณ์

ตัวอย่าง

เด็กสามารถเข้าใจเรื่องของตัวเลขหรือจำนวนนับได้ โดยเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ อาจใช้ก้อนหิน ๑๐ ก้อน แทนจำนวนสิบ เมื่อเด็กเข้าใจจำนวนสิบจากการนับก้อนหินแล้ว จึงใช้สื่อที่เป็นกึ่งรูปธรรม ซึ่งอาจเป็นบัตรหรือตัวเลข บัตรภาพสี แสดงจำนวนสิบ และท้ายสุกเด็กก็จะเริ่มเข้าใจสัญลักษณ์เลขสิบ (๑๐) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม คือ

2 2 2 2 2 + 2 2 2 2 2 = ๑๐

การมีความเห็นอย่างนี้ Edgar Del ได้เสนอกรวยประสบการณ์ในการเรียนรู้และเปอร์เซ็นต์ในการจำไว้ดังต่อไปนี้

บทบาทสมมติ ประสบการณ์จำลอง ลงมือปฏิบัติจริง เด็กจำได้   ๙๐%
อภิปราย   ให้พูดหน้าชั้น เด็กจำได้   ๗๐%
ดูภาพยนตร์   ดูนิทรรศการ การสาธิต ไปดูของจริง เด็กจำได้   ๕๐%
การดูภาพอย่างเดียว เด็กจำได้   ๓๐%
การฟังอย่างเดียว เด็กจำได้   ๒๐%
การอ่านอย่างเดียว เด็กจำได้   ๑๐%

 

บรรณานุกรม

 

กรองกาญจน์ อรุณรัตน์. (๒๕๓๖). เทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพฯ :

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

อรนุช ลิมตศิริ. (๒๕๔๖). นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ :

มหาวิทยาลัยรามคำแหง.