ปฏิรูปเทศสูตรสำเร็จแห่งการบริหารวัดในยุคปัจจุบัน ตอนที่ ๑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปฏิรูปเทศ

ปฏิรูปเทศสูตรสำเร็จแห่งการบริหารวัดในยุคปัจจุบัน

ตอนที่ ๑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปฏิรูปเทศ

 

โดย อาจารย์พิพัฒน์ภาสน์ บุญเทียน

อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

 

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

ปฏิรูปเทศเป็นหลักธรรมที่สำคัญในการบริหารวัดให้เหมาะสมแก่การสร้างและอบรมพุทธบริษัท ให้เป็นคนดีของสังคม ประกอบไปด้วย การบริหารวัดอาวาสเป็นที่สบาย (การปรับปรุงสภาพภูมิศาสตร์ของวัดให้ดี ปลูกต้นไม้ร่มรื่น ดูแลความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย)   การบริหารวัดให้อาหารเป็นที่สบาย (การดูแลอาหารการกินของพระสงฆ์และญาติโยมที่มาวัด รวมถึงการจัดระบบการบริหารการเงินให้รัดกุม) การบริหารวัดให้บุคคลเป็นที่สบาย (การคัดเลือก พัฒนาและอบรมบุคลากรในวัดให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อยเป็นแบบอย่างแก่ญาติโยมที่มาวัด) และการบริหารวัดให้ธรรมะเป็นที่สบาย (การอบรมสอนประชาชน จัดการศึกษา เผยแผ่คำสั่งสอนและนำหลักธรรมมาปกครองหมู่คณะ)

แม้ในปัจจุบันการบริหารวัดจะยึดภารกิจของวัดตามที่กำหนดเอาไว้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕   แต่การบริหารวัดโดยส่วนใหญ่นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ มีส่วนที่ต้องปรับปรุงอีกมากมาย เช่น การขาดการคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาบวช จัดการเผยแผ่ธรรมะยังขาดความต่อเนื่อง การบริหารวัดให้มีอาคารสถานที่เหมาะสมต่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมยังทำได้ไม่ดีนักทำให้วัดขาดความน่าสนใจ ความเชื่องมงายในเรื่องของขลัง วัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ยังมีอยู่ทั่วไป การดำเนินงานต่างๆ ของวัดส่วนใหญ่ยังขาดการวางแผนในระยะยาว (สุพัฒน์ มนัสไพบูลย์ และคณะ. ๒๕๓๙ : ๖-๙) จากสาเหตุดังกล่าวทำให้วัดเสื่อมลงจากบทบาทเดิมที่เคยเป็นมาแต่อดีตมากยิ่งขึ้น คนไม่ค่อยเข้าวัด ผู้ยึดหลักศีลธรรมในการดำเนินชีวิตลดน้อยลง แต่หากมองปัญหาเหล่านี้ในในมุมกลับแล้วจะพบว่า แท้จริงคนทุกคนอยากเข้าวัด เพียงแต่วัดยังไม่น่าเข้า ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาวัดให้น่าเข้า โดยการปรับปรุงวัดให้มีความเหมาะสมในด้านต่างๆ โดยอาจยึดตามหลักปฏิรูปเทศ ๔ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งมาใช้ในการบริหารวัด เพื่อพัฒนาวัดให้เหมาะสมแก่การสร้างคนดี

 

บทบาทและความสำคัญของวัด

วัด หมายถึง สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือ

นักบวช (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒. ๒๕๔๖ : ๑๐๕๙)

วัด หมายถึง ที่อยู่ของพระ (นักบวช) ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นดินแดนแห่งพระรัตนตรัยสำหรับชุมชน มี ๓ เขต คือ เขตพุทธาวาส เขตธรรมาวาส และเขตสังฆาวาส (พระธรรมวรนายก. ๒๕๔๕ : ๑๖๔)

วัด หมายถึง ศาสนสถานที่ประกอบกิจกรรมของชาวพุทธ เป็นที่อยู่ของบรรพชิต (พระสงฆ์และสามเณร) และฆราวาสที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจน   การเผยแผ่ศาสนธรรมของชาวพุทธ (พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง. ๒๕๓๙ : ๑๙๗)

นับตั้งแต่สมัยโบราณวัดมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย ทุกหมู่บ้านมีวัดเป็นศูนย์กลาง มีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจและสติปัญญา เป็นศูนย์กลางของความเชื่อถือ และความสามัคคี ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระธรรมวรนายก (๒๕๔๕ : ๑๖๕-๑๖๖) ได้กล่าวถึงวัดในสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้

๑. เป็นสถานที่ประพฤติพรตพรหมจรรย์ของพระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้ใคร่ธรรม

๒. เป็นสถานที่สำหรับประชาชนไปบำเพ็ญกุศล

๓. เป็นดินแดนแห่งความสงบ คือเป็นที่อยู่ของผู้สงบ เป็นดินแดนไปมาหาสู่ของผู้รักสงบ

๔. เป็นสาธารณูปการที่ชาวบ้านได้อาศัยใช้สาธารณูปโภค เช่น ตักน้ำกินน้ำใช้ที่สระวัด

๕. เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้แทบทุกสาขาวิชาตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูง

๖. เป็นสโมสรสถานหรือสมาคมที่ชุมนุมพักผ่อนหย่อนอารมณ์ของประชาชนทั่วไปในบางโอกาส

๗. เป็นสุขศาลา โรงพยาบาลหรือแพทยสถานที่พระบริการชาวบ้าน ผู้ป่วยไข้

๘. เป็นสถานที่พึ่งพำนักของคนไร้ที่พึ่ง เช่น กำพร้า อนาถา หรือประสบไฟไหม้ น้ำท่วม

๙. เป็นที่พึ่งหลบลี้หนีภัยของคนที่ถูกภัยคุกคาม เช่น ภัยสงคราม หรือโรคภัยร้ายแรงคุกคาม

๑๐. เป็นสถานที่พึ่งของผู้ตายและญาติของผู้ตาย

๑๑. เป็นสนามเด็กเล่น หรือเล่นกีฬาของประชาชน

๑๒. เป็นสถานที่พักของผู้เดินทาง เสมือนเป็นโรงแรมของประชาชนคนเดินทาง

๑๓. เป็นสถานที่เปรียบเทียบคดีความเสมือนหนึ่งเป็นโรงศาลวินิจฉัยเรื่องราวแก่ประชาชน

๑๔. เป็นสถานที่พบปะกันแห่งชายหนุ่มหญิงสาวตามประเพณีไทยแท้แต่โบราณ

๑๕. เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทย

 

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปฏิรูปเทศ

            ๑. ความหมายของปฏิรูปเทศ

ปฏิรูปเทศเป็นศัพท์มาจากภาษาบาลี ได้มีผู้ให้ความหมายของปฏิรปเทศเอาไว้ดังต่อไปนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (๒๕๔๖ : ๑๐๕๙) ได้ให้ความหมายของปฏิรูปเทศไว้ว่า ปฏิรูปเทศ หมายถึง ถิ่นที่เหมาะสม หรือถิ่นที่สมควร

พระธรรมธีรราชมหามุนี (๒๕๔๒ : ๔๑-๔๔) ได้ให้ความหมายของปฏิรูปเทศว่า หมายถึง ประเทศอันสมควร ได้แก่ประเทศที่สมบูรณ์แบบ มีพุทธบริษัท ๔ มีบุญกิริยาวัตถุ ๓ และมีนวังคสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา ๙ ประการ)

พระภาวนาวิริยคุณ (๒๕๔๔ก : ๔) ได้ให้ความหมายของปฏิรูปเทศ คือ อยู่ในถิ่นที่สมควร ถ้ากล่าวถึงในลักษณะของการทำงานก็คือ เป็นวิธีพัฒนาถิ่นที่อยู่ให้เหมาะสมแก่การสร้างคนดี

ปิ่น มุทุกันต์ (๒๕๓๕ : ๒๔๑-๒๔๒) ได้ให้ความหมายของปฏิรูปเทศไว้ว่า ปฏิรูปะ แปลว่า สมควร เหมาะสม เรียบร้อย รูปเฉพาะ ส่วนเทศะ แปลว่า ถิ่นที่อยู่ หมายถึงตำบลที่อยู่ ประเทศที่อยู่ รวมแล้ว ปฏิรูปเทศ หมายถึง ประเทศมีรูปเฉพาะ ประเทศเสรี มีสัญลักษณ์ศักดิ์ศรีเป็นของตนเอง มีวัฒนธรรมที่ดี

          ๒. ความสำคัญของปฏิรูปเทศ

พระภาวนาวิริยคุณ (๒๕๔๔ก : ๔) ได้กล่าวถึงความสำคัญของปฏิรูปเทศ ๔ สูตรสำเร็จของการบริหารวัดเอาไว้ว่า คนจะเป็นคนดีได้นั้นต้องคบคนดีเป็นกัลยาณมิตร และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำความดี และด้วยหลักการนี้เอง พระภิกษุต้องกลับมาถามตนเองว่าได้ทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยให้คนเป็นคนดีและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดให้เหมาะสมต่อการทำดีหรือไม่ เพราะถ้าไม่ทำวัดก็จะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ และคนดีในสังคมก็จะลดน้อยลง

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (๒๕๔๖ : ๓๕) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมหรือปฏิรูปเทศเอาไว้ว่า ต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกไว้ในกระถาง ถึงจะไม่ตาย ก็ต้องกลายเป็นไม้แคระแกร็น แต่ถ้านำไปปลูกในที่ดินดี มีบริเวณกว้างขวาง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็โตวันโตคืน กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่ เช่นเดียวกับคนเรา หากตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลว ถึงจะมีความรู้ความสามารถ ก็ยากที่จะเอาดีได้ แต่ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว ก็สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย

ปิ่น มุทุกันต์ (๒๕๓๕ : ๒๕๑) ได้กล่าวว่า บ้านเมืองไทยของเราเป็นปฏิรูปเทศมาแต่โบราณกาลแล้ว มีชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์และอิสรภาพ ตลอดจนขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเป็นของตนเองครบถ้วนสมบูรณ์ ทางที่จะทำให้บ้านเมืองเสียความปฏิรูปเทศมีอยู่ทางเดียวคือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสของภายนอก

ดังนั้นสามารถสรุปความสำคัญของปฏิรูปเทศได้ว่า เป็นสถานที่ที่ช่วยพัฒนาบุคคลให้มีความเจริญก้าวหน้า เพราะสถานที่ที่ดีอันประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัยที่ดี อาหารที่ดี บุคคลที่ดี และธรรมะที่ดี จะช่วยให้บุคคลได้รับโอกาสในการรับเอาสิ่งที่ดีๆเพื่อพัฒนาจิตใจและนำไปใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อเป็นคนดีในสังคม

            ๓. องค์ประกอบของปฏิรูปเทศ

พระธรรมธีรราชมหามุนี (๒๕๔๒ : ๔๖) ได้จำแนกปฏิรูปเทศออกเป็น ๒ ประการ ได้แก่

๑. ประเทศอันสมควรภายนอก คือ ประเทศที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่ มีพุทธบริษัท ๔ มีบุญกิริยาวัตถุ ๓ และมีนวังคสัตถุสาสน์    (คำสอนของพระศาสดา ๙ ประการ)

๒. ประเทศอันสมควรภายใน ได้แก่ ร่างกายกับใจของแต่ละบุคคลนั้นเอง

พระภาวนาวิริยคุณ (๒๕๔๔ก : ๔) กล่าวว่า ปฏิรูปเทศ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่

๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง ที่อยู่ของเรา   ทำอาคารสถานที่ต่างๆ ให้ น่าอยู่ให้น่าสบาย

๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง   การจัดอาหารให้ลงตัว รวมทั้งเรื่องของงบประมาณการเงินที่จะใช้ด้วย

๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บุคคลทั้งหมดต้องได้รับการอบรมจนกระทั่งอยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ในระเบียบวินัย

๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง การเรียนการศึกษา การสอนและ         การเผยแผ่ธรรมะ

พระมหาสมชาย ฐานะวุฑโฒ (๒๕๔๖ : ๓๖-๓๗) กล่าวถึงปฏิรูปเทศว่า มีอยู่        ๔ ประการ ได้แก่

๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี

๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารได้สะดวก

๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้น คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม

๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง ความดีงาม ความเหมาะสม ใน ๒ ลักษณะคือ

๔.๑ ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมี สถานศึกษาดี

๔.๒ ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาสผู้รู้ธรรม เป็นบัณฑิต

 

บทความเรื่องปฏิรูปเทศสูตรสำเร็จแห่งการบริหารวัดในยุคปัจจุบัน ตอนที่ ๑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปฏิรูปเทศ ขอยุติการนำเสมอเพียงเท่านี้ก่อน ในฉบับหน้า พบกับบทความเรื่องปฏิรูปเทศสูตรสำเร็จแห่งการบริหารวัดในยุคปัจจุบัน ตอนที่ ๑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปฏิรูปเทศ (ต่อ) จนจบนะครับ

 

บรรณานุกรม

ปิ่น มุทุกันต์. (๒๕๓๕). มงคลชีวิต ภาค ๑ : ประมวลความก้าวหน้าตามแนว

           พุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. (๒๕๔๖). กรุงเทพมหานคร :

นานมีบุ๊คส์.

พระธรรมวรนายก. (๒๕๔๖). “การพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน” ใน

          ธรรมปริทัศน์ ๔๖. หน้า ๑๖๔-๑๖๖, ๑๖๙. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธรรมธีรราชมหามุนี. (๒๕๔๒). มงคล ๓๘ ประการ. พิมพ์ครั้งที่ ๘

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระภาวนาวิริยะคุณ. (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ก). “ปฏิรูปเทศ ๔ สูตรสำเร็จการบริหารวัด”

จดหมายข่าวสหธรรมิก สื่อสารเพื่อการคณะสงฆ์. ๖(๖๘) : ๔,๖-๑๑.

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ. (๒๕๔๖). มงคลชีวิต ฉบับ “ทางก้าวหน้า”. กรุงเทพมหานคร

: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง. (๒๕๓๙). “การนำพระสงฆ์ (วัด) มาเป็นหลักในการแก้ปัญหา

ทางสังคมจิตวิทยาของเยาวชนไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ใน หลักการบริหารและ

          การจัดการวัดในยุคโลกาภิวัตน์. หน้า ๑๙๗. กรุงเทพมหานคร :

สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ.

สุพัฒน์ มนัสไพบูลย์ และคณะ. (๒๕๓๙). “สาระสำคัญของหลักสูตรการบริหารและ

การจัดการวัด” ใน หลักการบริหารและการจัดการวัดในยุคโลกาภิวัตน์.

หน้า ๖-๙. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ.