บทความทางวิชาการนิสิต เรื่องปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาการศึกษา

 

            สามเณรภัทรภณ คบทองหลาง

สามเณรวุฒิพงษ์ โอดคำดี

สามเณรประเสริฐ อุตรา

 

แนวคิดหรือความเชื่อในการจัดการศึกษาก็คือ ปรัชญาการศึกษา ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาจะยึดเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษานั้นจะจัดไปตามปรัชญาการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของสังคมและสถานการณ์ทางสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาประยุกต์ ซึ่งต่างจากปรัชญาทั่วไปที่เป็นปรัชญาบริสุทธิ์ เพราะปรัชญาการศึกษาเป็นการนำเอาปรัชญาทั่วไปมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา บทความเรื่องปรัชญาการศึกษามีเนื้อหาประกอบไปด้วยเรื่องความหมายของปรัชญา ปรัชญากับการศึกษา ความหมายของปรัชญาการศึกษา ลักษณะของปรัชญาการศึกษา และประเภทของปรัชญาการศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ความหมายของปรัชญา

ความหมายของคำว่าปรัชญาแบ่งออกเป็น ๒ ความหมาย คือความหมายของปรัชญาตามรูปศัพท์ และความหมายของปรัชญาตามทัศนะของนักปรัชญา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

          ๑. ความหมายของปรัชญาตามรูปศัพท์

ความหมายของปรัชญาตามรูปศัพท์ เป็นการให้ความหมายตรงตามคำศัพท์ ได้มีผู้ให้ความหมายของปรัชญาดังนี้

พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ (๒๕๔๒ : ๑-๓) ได้ให้ความหมายของคำว่าปรัชญาเอาไว้ว่า ปรัชญา เป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Philosophy ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า ความรักในความรู้ รักในความฉลาด หรือรักในปัญญา นั่นย่อมแสดงให้เป็นว่า หัวใจของปรัชญาคือรักในความรู้นั่นเอง ดังนั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาก็คือคนที่รักในการแสวงหาความรู้ และ(ที่เรียกตัวเองว่าผู้รักในความรู้หรือนักปรัชญาเป็นคนแรกก็คือนักคิดชาวกรีกชื่อ Pythagoras

สวามี สัตยานันทบุรี (๒๕๑๔ : ๓-๕) ได้กล่าวเอาไว้ว่า คำว่าปรัชญา ตามความหมายในภาษาไทยนั้น เป็นคำที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำภาษาอังกฤษที่ว่า Philosophy ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า ปัญญา หมายถึง ความปราดเปรื่อง หรือความรู้อย่างลึกซึ้ง และคำว่า ปรัชญา เป็นคำบาลีสันสกฤต มาจากคำว่า ปร หมายถึง พิเศษ ประเสริฐ ดีเลิศ กับคำว่า ชญา หมายถึง รู้ เข้าใจ ความรู้ ดังนั้นคำว่าปรัชญาจึงหมายถึง ความรู้พิเศษที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่มีอวสานแห่งความรู้ในสรรพสิ่งทั่วไป เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัยอันเป็นความรู้อันประเสริฐอย่างแท้จริง

๒. ความหมายของปรัชญาตามทัศนะของนักปรัชญา

ความหมายของปรัชญาตามทัศนะของนักปรัชญานั้น ได้มีผู้ให้ความหมายเอาไว้ดังต่อไปนี้

ภิญโญ สาธร (๒๕๒๕ : ๑) ได้ให้ความหมายของปรัชญาเอาไว้ว่า ปรัชญา หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้ทั้งปวงของมนุษย์ จึงเน้นที่ปรากฏการณ์ที่เป็นจริง สัจธรรม หรือสุนทรียภาพ ที่ประกอบด้วย ตรรกวิทยา ศีลธรรม จริยธรรม ค่านิยม และพฤติกรรมของมวลมนุษย์ ซึ่งศาสตร์ชนิดนี้มุ่งแสวงหาหลักการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำมาจัดระเบียบของความรู้ทั้งปวงในจักรวาล

Kneller (๑๙๖๔ : ๑-๕) ได้กล่าวไว้ว่า ปรัชญาคือแนวทางที่เชื่อว่าดีที่สุด ซึ่งจะได้จากการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของบุคคล

จากความหมายของปรัชญาทั้ง ๒ ความหมายดังที่กล่าวมานี้สามารถสรุปได้ว่า ปรัชญาคือแนวความคิดที่ลึกซึ้งเพื่อค้นหาความรู้ที่เกี่ยวกับความเป็นจริงสูงสุดสำหรับมนุษย์ และเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยการแสวงหาความรู้และเป็นผลแห่งการแสวงหาความรู้ทั้งหลาย

ปรัชญากับการศึกษา

จินดา ยัญทิพย์ (๒๕๒๘ : ๒๒) ได้กล่าวถึงปรัชญากับการศึกษาเอาไว้ว่า ปรัชญากับการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันมาก ปรัชญามุ่งศึกษาเรื่องของชีวิตและจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อจะหาความจริงอันเป็นที่สุด ส่วนการศึกษานั้นมุ่งศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และวิธีการที่พัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงาม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ทั้งปรัชญาและการศึกษามีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ การกำหนดคุณค่าและความหมายของชีวิตมนุษย์ การศึกษานั้นเป็นการนำเอาปรัชญาไปปฏิบัติให้บังเกิดผล จึงกล่าวได้ว่า ในการจัดการศึกษานั้นย่อมต้องอาศัยปรัชญาในการหาคำตอบในการศึกษาหรือนำปรัชญามาช่วยพิจารณากำหนดเป้าหมายของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มุ่งผลการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวที่พึงปรารถนา ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า อะไรคือเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เป็นต้น ดังนั้นจึงนำเอาปรัชญามาช่วยในการวิพากษ์และวิเคราะห์เนื้อหาของปัญหาการศึกษาได้ และปรัชญายังให้ภาพรวมทางการศึกษาที่กลมกลืน คือ ปรัชญาพยายามวาดภาพโดยเชื่อมโยงความรู้ที่ได้จากศาสตร์ต่างๆ มาประมวลเข้าเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้ศาสตร์ทั้งหลายกลมกลืนกันและมีความหมายต่อมนุษย์ สามารถสรุปได้ว่าปรัชญาการศึกษาเป็นการนำเอาหลักการและแนวคิดจากปรัชญาแม่บทมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้การจัดการศึกษาได้เกิดประโยชน์สูงสุด บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ปรัชญาจึงมีความสัมพันธ์กับการศึกษา

 

 

ความหมายของปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาและการศึกษามีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการประยุกต์หลักปรัชญามาใช้ในการศึกษา เรียกว่าปรัชญาการศึกษา มีผู้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาไว้ดังต่อไปนี้

จิตรกร ตั้งเกษมสุข (๒๕๒๕ : ๒๒) ได้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาเอาไว้ว่า ปรัชญาการศึกษา คือการนำเอาเนื้อหาและวิธีการของปรัชญามาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา โดยจะอาศัยประโยชน์จากเนื้อหาและวิธีการของปรัชญาในการกำหนดแผนอย่างมีระบบและอย่างสมเหตุสมผล

Kneller (๑๙๗๑ : ๒) ได้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาเอาไว้ว่า ปรัชญาการศึกษา คือผลจากการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาอย่างชัดเจน แปลความหมายการศึกษาให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดจุดมุ่งหมายและนโยบายทางการศึกษาได้

Lucus (๑๙๗๐ : ๑๓๖) ได้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาเอาไว้ว่า ปรัชญาการศึกษา หมายถึง ความคิด ความเชื่อ หรือทักษะเกี่ยวกับการศึกษาที่โรงเรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาผู้เรียน

ดังนั้นสรุปได้ว่า ปรัชญาการศึกษา คือการนำเอาหลักการ ความคิด ความเชื่อ ผลจากการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาที่ชัดเจน หรือการนำเอาทักษะเกี่ยวกับการศึกษามาดัดแปลงให้เป็นระบบใหม่เพื่อประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษา

 

ลักษณะของปรัชญาการศึกษา

Lucus (๑๙๗๐ : ๑๑๓) ได้กล่าวถึงลักษณะของปรัชญาการศึกษาเอาไว้ว่า ปรัชญาการศึกษาควรมีลักษณะดังนี้

          ๑. การพรรณนา-วิเคราะห์

ปรัชญาการศึกษาควรจะมีส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงแนวความคิดของนักปรัชญาการศึกษาว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น มีหลักการอะไรในการคิด และวิเคราะห์ดูว่าความคิดของนักปรัชญาการศึกษาเหล่านั้นมีความสอดคล้องกันหรือไม่ ให้ความหมายอะไรแก่เราได้บ้าง เสนอวิธีการใหม่ๆ หรือไม่

            ๒. การวิจารณ์-ประเมินผล

ปรัชญาการศึกษาควรจะมีส่วนหนึ่งที่วิเคราะห์และวิจารณ์ความคิดต่างๆ ทางการศึกษา ประเมินผลดูว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาในปัจจุบันนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง และมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษาอย่างไร รวมถึงได้เสนอความคิดใหม่ให้กับการศึกษาด้วยแนวคิดทางปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาอย่างไร

            ๓. การอนุมาน

อีกส่วนหนึ่งของปรัชญาการศึกษาคือส่วนที่เกี่ยวกับการอนุมานหรือคาดคะเนว่าความคิดเกี่ยวกับระบบการศึกษาหรือปรัชญานั้นมีรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ จักรวาลนี้แท้จริงเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างไร ปรัชญาส่วนนี้เป็นการมองปัญหาอย่างกว้างและลึกซึ้ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอภิปรัชญามาก

 

ประเภทของปรัชญาการศึกษา

บรรจง จันทรสา (๒๕๒๗ : ๒๓๗-๒๕๐) ได้กล่าวถึงประเภทของปรัชญาการศึกษาเอาไว้ว่า ปรัชญาการศึกษามีอยู่มากมายหลายกลุ่ม ตามลักษณะและตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความคิดแตกต่างกัน มีแนวคิดของปรัชญาพื้นฐานแตกต่างกัน สามารถสรุปได้ดังนี้

          ๑. ปรัชญาสารนิยมหรือสารัตถนิยม

เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ความจริงทางธรรมชาติ

          ๒. ปรัชญาสัจวิทยานิยมหรือนิรันตรนิยม

เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าว่าโลกนี้มีบางสิ่งที่มีคุณค่าถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไป

          ๓. ปรัชญาพิพัฒนาการนิยมหรือวิวัฒนาการนิยม

เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าการดำรงชีวิตที่ดีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดีและการกระทำที่เหมาะสม

          ๔. ปรัชญาปฏิรูปนิยม

เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าการปฏิรูปสังคมเป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคมทุกคน และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

          ๕. ปรัชญาอัตถิภาวนิยมหรืออัตนิยมหรือสวภาพนิยม

เป็นปรัชญาที่เชื่อในความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญด้วยตนเอง

 

สรุป

ปรัชญาเป็นแนวความคิดที่ลึกซึ้งเพื่อค้นหาความรู้ที่เกี่ยวกับความเป็นจริงสูงสุดสำหรับมนุษย์ และเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยการแสวงหาความรู้ และเป็นผลแห่งการแสวงหาความรู้ทั้งหลาย ปรัชญากับการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันมาก ปรัชญามุ่งศึกษาเรื่องของชีวิตเพื่อจะหาความจริงอันเป็นที่สุด ส่วนการศึกษานั้นมุ่งศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และวิธีการที่พัฒนามนาย์ให้มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ปรัชญาการศึกษาคือการนำเอาหลักการความคิดและผลจากการแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาอย่างชัดเจนหรือทักษะเกี่ยวกับการศึกษามาดัดแปลงให้เป็นระบบใหม่เพื่อประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษา ปรัชญาการศึกษามีลักษณะสำคัญคือสามารถอธิบายถึงแนวคิดของนักปรัชญาได้ มีการวิเคราะห์วิจารณ์ความคิดต่างๆ ทางการศึกษา รวมถึงอนุมานคาดคะเนเกี่ยวกับระบบการศึกษาด้วย ปรัชญาการศึกษามีหลายกลุ่ม แบ่งเป็นปรัชญาสารนิยม สัจวิทยานิยม วิวัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม และอัตถิภาวนิยม

 

บรรณานุกรม

 

จิตรกร ตั้งเกษมสุข. (๒๕๒๕). พุทธปรัชญากับปรัชญาการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ :

เคล็ดไทย.

จินดา ยัญทิพย์. (๒๕๒๘). ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางปรัชญาการศึกษา

            กับการเรียนของนิสิตบัณฑิตศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสารัตถศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บรรจง จันทรสา. (๒๕๒๗). ปรัชญาการศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ. (๒๕๔๒). ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ :

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ภิญโญ สาธร. (๒๕๒๕). ปรัชญาการศึกษา. กรุงเทพฯ : มส.การพิมพ์.

สวามี สัตยานันทบุรี. (๒๕๑๔). ปาฐกถา. กรุงเทพฯ : แพร่วิทยา.

Kneller. (๑๙๖๔). Introduction to the Philosophy of Education. New York :

John Wiley & Sons.

______. (๑๙๗๑). “Contemporary Education Theory” Foundation of Education.

PP.๒๒๑-๒๓๕. ๓ Wed., Grerge F.K. New York : John Wiley & Sons.

Lucus. (๑๙๗๐). What is Philosophy of Education. New York : the Mc Millan

Company.