คุณธรรมสำหรับครู
พระศรายุทธ ธีรปญฺโญ
สามเณรปัญญา พิทักษี
สามเณรเกียรติศักดิ์ ปุ่มแม้น
คุณธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับบุคคลทุกสาขาอาชีพ เพราะว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามที่บุคคลทุกสาขาอาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพครู เพราะครูเป็นอาชีพชั้นสูง ฉะนั้นจึงควรมีคุณธรรมในจิตใจ และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ ครูจะต้องมีหลักพุทธธรรมสำหรับความเป็นครู เพราะหลักพุทธธรรมจะทำให้ครูนั้นมีจิตใจที่ดีงามและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสิทธิ์ และการที่ครูจะมีคุณธรรมได้นั้น ประการหนึ่งคือเกิดจากการได้รับการพัฒนาจากองค์กรต่างๆ เป็นต้น
ความหมายของคุณธรรม
คุณธรรม คือ คุณงามความดีต่างๆ ที่บุคคลพึงประพฤติปฏิบัติ และเป็นคุณงามความดีที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคล ซึ่งมีผู้กล่าวถึงความหมายของคุณธรรมเอาไว้ดังต่อไปนี้
ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๖ : ๕๒๓) ได้กล่าวถึงคุณธรรมเอาไว้ว่า คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดี
พุทธทาสภิกขุ (๒๕๒๙ : ๒๗-๒๘) ได้กล่าวถึงคุณธรรมไว้โดยแยกอธิบายความหมายของคำว่า คุณ และ ธรรม เอาไว้ว่า คุณ หมายถึง ค่าที่มีอยู่ในแต่ละสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นไปทั้งทางดีและทางร้าย คือ ทำให้จิตใจยินดีก็เรียกว่าคุณ ทำให้จิตใจยินร้ายก็เรียกว่าคุณ และ ธรรม มีความหมาย ๔ ประการ ประกอบไปด้วย
๑. ธรรมะ คือ ธรรมชาติ เรามีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้อง
๒. ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ เรามีหน้าที่ต้องเรียนรู้
๓. ธรรมะ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติ
๔. ธรรมะ คือ ผลจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เรามีหน้าที่จะต้องมีหรือใช้มันอย่างถูกต้อง
จากที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปความได้ว่า คำว่าคุณธรรมนั้น มาจากคำ ๒ คำ คือ ณ กับ ธรรม คุณหมายถึงสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เมื่อรวมกับคำว่าธรรม เป็นคำว่าคุณธรรม ซึ่งคำว่าคุณธรรม หมายถึง คุณงามความดี คุณสมบัติที่เป็นความดีงาม ความถูกต้อง และอยู่ภายในจิตใจของบุคคล ทำให้บุคคลนั้นพร้อมที่กระทำสิ่งต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อตนเองโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำคัญของคุณธรรม
พระเทพเวที [ป.อ. ปยุตฺโต] (๒๕๓๓ : ๓-๔) ได้กล่าวถึงความสำคัญของคุณะรรมเอาไว้ว่า คุณธรรมนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญของคนทุกคนและทุกวิชาชีพ หากบุคคลใดหรือวิชาชีพใดไม่มีคุณธรรมเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจในเบื้องต้นแล้ว ก็ยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานที่ตนกระทำอยู่ และอาจจะไม่เจริญในหน้าที่การงานเลย และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่บุคคลขาดคุณธรรมทั้งในการทำงานและการดำรงชีวิต อาจมีผลร้ายต่อตนเองและการงานที่ตนทำ รวมถึงสังคมและวงการวิชาชีพในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้นคุณธรรมจึงสำคัญต่อบุคคล สำคัญต่อการงานอาชีพที่ตนทำ รวมถึงสังคมและชาติบ้านเมือง เนื่องจากคุณธรรมเป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลนั้นประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคุณธรรมเป็นความดีงามที่บุคคลควรมีและปฏิบัติ และคุณธรรมก็เป็นสภาพของความดี ลักษณะของความดี หรือธรรมชาติของความดีที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคล ส่วนการกระทำดีหรือพฤติกรรมดีๆ ที่บุคคลกระทำนั้น เกิดจากการนำเอาหลักในการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หรือหลักการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของคุณธรรม และสังคมใดมีสมาชิกของสังคมที่ไร้คุณธรรมจำนวนมาก สังคมนั้นจะมีแต่ความสับสนวุ่นวายและยากแก่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ และในสังคมของครูก็เช่นเดียวกัน หากผู้ประกอบวิชาชีพครูไร้คุณธรรม นอกจากจะทำให้ตนเองและสถาบันวิชาชีพตกต่ำแล้ว ยังจะทำให้สังคมและชาติบ้านเมืองตกต่ำด้วย
หลักพุทธธรรมเพื่อความเป็นครู
ยนต์ ชุ่มจิต (๒๕๕๐ : ๑๔๖-๑๘๖) ได้กล่าวถึงหลักคุณธรรมเพื่อความเป็นครูเอาไว้ว่า เป็นหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูควรนำไปประพฤติปฏิบัติ หลักพุทธธรรมที่ครูควรนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้แก่
๑. ธรรมคุ้มครองโลก หรือเทวธรรม
หลักธรรมในข้อนี้จะช่วยให้บุคคลในโลกไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้คุณธรรมข้อนี้จึงได้ชื่อว่า ธรรมคุ้มครองโลก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จำแนกไว้ ๒ ประการ ดังนี้
๑.๑ หิริ ความละอายต่อบาปและความชั่วทั้งปวง
๑.๒ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปและความชั่วทั้งปวง
๒. สุจริต
สุจริต คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบ มี ๓ ประการ ดังนี้
๒.๑ กายสุจริต
คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบทางกาย ๓ ประการ อันได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักขโมยของผู้อื่น และการไม่ประพฤติผิดทางประเวณี
๒.๒ วจีสุจริต
คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบทางวาจา ๔ ประการ อันได้แก่ การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียด การไม่พูดคำหยาบ และการไม่พูดเพ้อเจ้อ
๒.๓ มโนสุจริต
คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบทางใจ ๓ ประการ อันได้แก่ ความไม่โลภ ความไม่พยาบาท และการไม่เห็นผิดตามทำนองครองธรรม
๓. พรหมวิหาร
พรหมวิหาร คือหลักธรรมประจำใจอันประเสริฐ เป็นหลักธรรมที่อยู่ของพรหม หรือธรรมที่อยู่ของท่านผู้เป็นใหญ่ มี ๔ ประการ คือ
๓.๑ เมตตา คือ ความรักใคร่
๓.๒ กรุณา คือ ความสงสาร
๓.๓ มุทิตา คือ ความพลอยยินดี
๓.๔ อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง
หัวข้อธรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นหัวข้อที่สำคัญสำหรับครู เพราะหัวข้อธรรมเหล่านี้สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติและทำให้ครูเป็นที่เคารพนับถือ รวมทั้งทำให้เป็นบุคคลที่สังคมให้ความยกย่องและให้ความเชื่อถือ
การพัฒนาคุณธรรมสำหรับครู
ยนต์ ชุมจิต (๒๕๕๐ : ๑๘๖-๑๙๑) ได้กล่าวไว้ว่า ครูนั้นจะต้องพัฒนาคุณธรรมให้เจริญงอกงาม ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนาดังต่อไปนี้
๑. การพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูโดยสถาบันผลิตครู
สถาบันผลิตครูเป็นหน่วยงานแรกที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณธรรมของครู สำหรับวิธีการพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูที่สถาบันผลิตครูสามารถทำได้มีดังต่อไปนี้
๑.๑ พยายามคัดเลือกผู้เรียนที่จะเข้าศึกษาที่เป็นคนเก่งและดี และมีศรัทธาต่อวิชาชีพครู
๑.๒ คณาจารย์ที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักศึกษาวิชาชีพครูจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ศิษย์จดจำรูปแบบของความเป็นครูที่ดีตลอดไป
๒. การพัฒนาคุณธรรมโดยหน่วยงานที่ใช้ครู
หน่วยงานที่ใช้ครูมีหลายสังกัดและหลายระดับ แต่ละหน่วยงานต่างก็มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณธรรมของครู สำหรับวิธีการพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูที่หน่วยงานที่ใช้ครูทำได้มีดังต่อไปนี้
๒.๑ จัดโครงการโดยให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีและมีศรัทธาต่อวิชาชีพครู
๒.๒ คัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีและมีความศรัทธาต่อวิชาชีพครู เมื่อสำเร็จการศึกษาให้รับเข้าทำงานทันที เป็นต้น
๓. การพัฒนาคุณธรรมโดยองค์กรวิชาชีพ
อาชีพชั้นสูงหรือวิชาชีพจะต้องมีองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่คอยควบคุมดูแลสมาชิกในองค์กร สำหรับวิธีการพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูที่องค์กรวิชาชีพครูทำได้มีดังต่อไปนี้
๓.๑ ส่งเสริมให้มีการวิจัยเกี่ยวกับคุณธรรมสำหรับครู
๓.๒ จัดให้มีการอบรมสัมมนาเกี่ยวกับคุณธรรมสำหรับครูอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
๔. การพัฒนาคุณธรรมโดยสถาบันทางสังคมอื่นๆ
สถาบันทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณธรรมสำหรับครู ได้แก่ สถาบันทางศาสนา นั่นก็คือ วัด ซึ่งสามารถควบคุมบุคคลได้ทุกสถาบัน ซึ่งต่างจากสถาบันทางสังคมอื่นๆ ที่สามารถควบคุมได้เฉพาะสมาชิกในสถาบันตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นหากวัดได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องถ่องแท้ จะช่วยให้สมาชิกในสังคมหรือทุกสถาบันมีคุณธรรมดีขึ้นอย่างแน่นอน
๕. การพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูด้วยตนเอง
แนวทางการพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูตามที่ได้เสนอข้างต้นนี้จะไร้ผลหากผู้ประกอบวิชาชีพครูไม่สนใจที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ดังนั้นผู้ที่เป็นครูทุกคนจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า บุคคลที่เป็นครูนั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาศิษย์ให้เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถเสียก่อน
สรุป
คุณธรรมหมายถึงคุณสมบัติที่เป็นความดี ความถูกต้อง ซึ่งอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ คุณธรรมของครูก็คือคุณสมบัติที่เป็นความดี ความถูกต้อง ความเหมาะสม ซึ่งอยู่ภายในจิตใจของครู และเป็นแรงผลักดันให้ครูกระทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้องเหมาะสมและสมบูรณ์ยิ่ง คุณธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับครู เพราะคุณธรรมจะช่วยให้ครูนั้นเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องและนับถือจากบุคคลทั่วไป การที่ครูจะได้รับการยกย่องนั้นจะต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันได้แก่ หลักธรรมคุ้มครองโลก หลักสุจริตธรรม และหลักพรหมวิหารธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณธรรมของครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภามีความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ครูอย่างยิ่ง กล่าวคือ ครูต้องมีคุณธรรมอันประกอบไปด้วย ความเมตตากรุณา ความยุติธรรม มีวินัย ขยันอดทน มีความรักความศรัทธาในวิชาชีพครู ดังนั้นคุณธรรมทั้งปวงของครูจะต้องอยู่บนพื้นฐานหลัก ๓ ประการ คือ ปัญญา กรุณา และบริสุทธิ์ และการพัฒนาคุณธรรมสำหรับครูสามารถกระทำได้หลายวิธีหลายแนวทาง เช่น พัฒนาโดยสถาบันผลิตครู การพัฒนาโดยหน่วยงานที่ใช้ครู การพัฒนาโดยองค์กรวิชาชีพ การพัฒนาโดยสถาบันทางสังคม และที่สำคัญคือ การพัฒนาด้วยตนเอง
บรรณานุกรม
พระเทพเวที [ป.อ. ปยุตฺโต]. (๒๕๓๓). จริยธรรมกับชีวิต. พระนครศรีอยุธยา :
ศูนย์ประสานงานจริยศึกษา สหวิทยาลัยพระนครศรีอยุธยา.
พุทธทาสภิกขุ. (๒๕๒๙) ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปี ที่สวนโมกข์ (ตอน ๑). กรุงเทพฯ :
การพิมพ์พระนคร.
ยนต์ ชุ่มจิต. (๒๕๕๐). ความเป็นครู. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๖). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.
กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชันส์.