ศิลปะศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘) ปางมารวิชัย
เชื่อกันว่ามีอาณาจักรหนึ่งรุ่งเรืองอำนาจขึ้นบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ อาณาจักรนี้บางครั้งก็ได้ครอบครองแหลมมลายูและดินแดนบางส่วนทางภาคใต้ของประเทศไทย นักปราชญ์ทางโบราณคดีเรียกชื่ออาณาจักรนี้ว่าศรีวิชัยตามศิลาจารึกที่ค้นพบ และศิลปกรรมซึ่งเกิดขึ้นทางภาคใต้แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานีของประเทศไทยขณะนั้นก็ได้รับชื่อว่าศิลปะแบบศรีวิชัย
ศิลปะศรีวิชัยได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ หลังคุปตะ และปาละ-เสนะตามลำดับ ศิลปะแบบศรีวิชัยในประเทศไทยส่วนมากสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายานทั้งสิ้น ศิลปะแบบศรีวิชัยในภาคใต้ของประเทศไทยคงมีอายุอยู่ลงมาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อันเป็นเวลาที่ดินแดนแห่งนี้ได้เข้ารวมอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย สำหรับงานศิลปะแบบศรีวิชัยที่มีปรากฏอยู่ ได้แก่
ประติมากรรมในศิลปะแบบศรีวิชัยได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสลักด้วยศิลาและค้นพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (รูปที่ ๑) ซึ่งเป็นประติมากรรมที่น่าจะเก่าที่สุด และยังมีอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะปะปนอยู่มาก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอีก ๒ องค์ ซึ่งหล่อด้วยสัมฤทธิ์และค้นพบที่อำเภอไชยาเช่นเดียวกัน อยู่ในสมัยต่อมา และดูจะมีอิทธิพลของศิลปะแบบหลังคุปตะและปาละ-เสนะเข้ามาปะปนแล้ว องค์แรกที่เหลือเพียงครึ่งองค์ (รูปที่ ๒) ถือกันว่าเป็นโบราณวัตถุที่งามที่สุดชิ้นหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แม้พระธยานิพุทธอมิตาภะปางสมาธิองค์เล็กบนศิราภรณ์ของพระโพธิสัตว์องค์นี้จะหักหายไป แต่การที่รูปนี้ครองหนังกวางก็อาจหมายความได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในศิลปะศรีวิชัยแปลกกว่าที่อื่นที่มักมีหนังเสือคาดอยู่รอบพระโสณี (ตะโพก) ซึ่งในประเทศอินเดียไม่เคยปรากฏตั้งแต่แรก ลักษณะดังกล่าวบนเกาะสุมาตราและชวาก็มีบ้าง
โบราณวัตถุแบบศรีวิชัยบางชิ้นก็พบในที่ไกลมาก เป็นต้นว่าประติมากรรมที่เชื่อกันว่าเป็นรูปพระเมตไตรยโพธิสัตว์ตามลัทธิมหายาน แต่ปัจจุบันก็มีผู้เสนอว่าอาจเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแสดงปางประทานปฐมเทศนา (รูปที่ ๓) พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่จังหวัดมหาสารคาม คงมีผู้นำเอาขึ้นไป พระพุทธรูปนาคปรกซึ่งค้นพบที่วัดเวียง อำเภอไชยา (รูปที่ ๔) เป็นของแปลกประหลาด เพราะพระพุทธรูปไม่หล่อเป็นปางสมาธิ แต่ทำเป็นปางมารวิชัย ซึ่งมีน้อยมาก เหตุนั้นจึงมีนักปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปและนาคนั้น อาจไม่ได้หล่อขึ้นพร้อมกัน เพราะเหตุว่ารูปนี้อาจถอดออกได้เป็น ๓ ชิ้นคือเศียรนาคชิ้นหนึ่ง พระพุทธรูปชิ้นหนึ่ง และขนดนาคอีกชิ้นหนึ่ง แต่ก็อาจจะเชื่อได้ยากอยู่เพราะวางเข้ากันได้พอดี ที่ฐานนาคมีจารึกว่าหล่อขึ้นใน พ.ศ. ๑๗๒๖ อันอาจนับได้ว่าเป็นตอนปลายของศิลปะศรีวิชัย พระพุทธรูปนาคปรกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีอิทธิพลของศิลปะขอมหรือลพบุรีเข้ามาปะปนแล้ว ดังอาจเห็นได้จากลักษณะเศียรนาค พระพักตร์สี่เหลี่ยมของพระพุทธรูปและท่านั่งขัดสมาธิราบ รวมทั้งภาษาขอมที่ใช้ในจารึก ในขณะเดียวกัน ลักษณะของศิลปะศรีวิชัยตอนปลายก็มีปรากฏอยู่ด้วย คือพระเกตุมาลาหรือเมาลีเรียบ ไม่มีขมวดพระเกศา มีรัศมีรูปใบโพธิ์ติดอยู่ทางด้านหน้า และชายจีวรเป็นริ้วซ้อนกันเหนือพระอังสาซ้าย ลักษณะหลังนี้ได้คงอยู่นานที่อำเภอไชยาทางภาคใต้ของประเทศไทยจนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา
ที่จังหวัดสงขลา ก็ได้ค้นพบประติมากรรมสัมฤทธิ์สมัยศรีวิชัยหลายชิ้นเช่นเดียวกัน ที่เป็นเทวรูปก็มี เช่น รูปพระอิศวร และรูปท้าวกุเวร (รูปที่ ๕) แต่รูปท้าวกุเวรองค์นี้คงสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน คือเป็นรูปชัมภละ เพราะเหตุว่ามีจารึกคาถาภาษาสันสกฤต “เย ธรฺมฺมา” สลักอยู่บนด้านหลัง นอกจากนี้ก็มีภาชนะดินเผาด้วยที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้ค้นพบประติมากรรมสัมฤทธิ์สมัยศรีวิชัยเช่นเดียวกัน
พระพิมพ์ที่พบส่วนมากทำด้วยดินดิบ เป็นของที่แตกหักง่าย คงจะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาดังพระพิมพ์ดินเผาหรือโลหะ สันนิษฐานว่าคงทำตามประเพณีทางลัทธิมหายาน เมื่อเผาศพพระสงฆ์เถระที่มรณภาพหรือบุคคลที่ตายแล้วเอาอัฐิธาตุโขลกเคล้ากับดิน แล้วพิมพ์พระพุทธรูป หรือรูปพระโพธิสัตว์ (รูปที่ ๖) ไว้เป็นพระพิมพ์ดินดิบ เพื่อประสงค์ปรมัตถประโยชน์ของผู้มรณภาพเป็นที่ตั้ง อัฐินั้นได้เผาครั้งหนึ่งแล้ว จึงไม่เผาอีก
สำหรับสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยนั้นเหลืออยู่น้อยมากเช่นที่ เจดีย์พระบรมธาตุไชยยา วัดมหาธาตุ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอไชยาคงเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่สำคัญในสมัยศรีวิชัย เพราะเหตุว่าบรรดาโบราณวัตถุที่กล่าวมาข้างต้นส่วนมากก็ค้นพบที่ไชยาทั้งสิ้น จนถึงมีบางท่านกล่าวว่าเมืองไชยาอาจเป็นราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยก็ได้(จริงๆแล้วพบหลักฐานงานโบราณวัตถุสถานแบบศรีวิชัยในอินโดนีเซียมากกว่า)
สถาปัตยกรรม
สำหรับสถาปัตยกรรมที่สำคัญของศิลปะศรีวิชัย ก็มีพระบรมธาตุไชยา (รูปที่ ๗) ที่อ.ไชยา สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับบรรดาเจดีย์ในเกาะชวามาก พระบรมธาตุนี้ได้ซ่อมใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทำให้รูปแบบเปลี่ยนไปจากของเดิมบ้าง
hüpfburg mit rutsche