นโยบายการประกัน

นโยบายการประกันคุณภาพการศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย

๑. ทบวงมหาวิทยาลัยจะพัฒนาให้มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษามาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา โดยเน้นหลักการของการให้สถาบันอุดมศึกษามีระบบการควบคุมคุณภาพทางวิชาการ และปรับปรุงการปฏิบัติภารกิจทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความมีเสรีภาพทางวิชาการและอิสรภาพในการ ดำเนินงาน ที่ยังคงเอื้อต่อการตรวจสอบจากสังคมภายนอก อันนำมาซึ่งความมีมาตรฐานทางการศึกษาในระดับที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

๒. ทบวงมหาวิทยาลัยจะส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพ การศึกษาขึ้นภายในสถาบัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้มีการสร้างกลไกการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาที่เป็นรูปธรรมขึ้น ทั้งนี้แต่ละสถาบันอาจจัดให้มีระบบการตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการขึ้นเป็นการภายในได้ตามความเหมาะสม

๓. ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดรูปแบบและวิธีการในการประกันคุณภาพการศึกษาขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยแต่ละสถาบันอาจนำไปปรับปรุงหรือพัฒนาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพการของ แต่ละสถาบันได้ตามความจำเป็น

๔. เพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบัน ได้รับการยอมรับจากภายนอกโดยกว้างขวาง และเป็นการแสดงถึงความมีคุณภาพของการจัดการศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย จะจัดให้มีกลไกของการตรวจสอบและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาที่แต่ ละสถาบันได้จัดให้มีขึ้นทั้งในระดับสถาบัน และคณะวิชาแล้วให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาต่อไป

๕. ทบวงมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของหน่วย งานและสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ในกิจกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาทั้ง ภาครัฐและเอกชน สมาคมวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีความสนใจร่วมกันในกิจกรรมการ ประกันคุณภาพการศึกษา

๖. ทบวงมหาวิทยาลัยจะส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลข่าวสาร และผลจากกิจกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันต่าง ๆ มาเผยแพร่ต่อสังคมภายนอกให้ได้รับทราบถึงมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาของ ประเทศ ตลอดจนเป็นข้อมูลสำหรับนักศึกษาและผู้ปกครองในการเลือกสถานศึกษา เป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ แก่สถาบันอุดมศึกษา เพื่อกระตุ้นให้สถาบันอุดมศึกษามีความตื่นตัวและพัฒนาคุณภาพโดยสม่ำเสมอ

นโยบายในการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาสามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติในการประกันคุณภาพการศึกษา ดังนี้

๑. ให้ทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัยดำเนินการบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองต่อพันธกิจและนโยบายของมหาวิทยาลัย อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในทุกสาขาวิชาและทุกหลักสูตร ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

๒. พัฒนาระบบและกลไกในการดำเนินการประกันคุณภาพ ให้สอดคล้องกับกระบวนการดำเนินการภายในและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นให้ทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัย ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน และสถาบันสมทบ นำระบบประกันคุณภาพไปใช้ เพื่อสร้างให้เกิดกลไกในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

๓. สนับสนุนให้ทุกหน่วยงานทุกระดับของมหาวิทยาลัย ดำเนินการประกันคุณภาพภายในให้สอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย

๔. ดำเนินการตรวจสอบและประเมินคุณภาพการดำเนินการของหน่วยงานเป็นประจำ ภายใต้กรอบและเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริหารของหน่วยงานและของมหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการพัฒนา ระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้แต่ละหน่วยงานต้องจัดทำสรุปผลการดำเนินการประกันคุณภาพของตนไว้ประจำ หน่วยงานของตนแต่ละปีการศึกษา และให้ถือว่ารายงานผลสรุปการดำเนินการประกันคุณภาพดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปีที่เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและเปิดเผยต่อ สาธารณะ

๕. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมทั้งนิสิต มีส่วนร่วมในการสร้างระบบประกันคุณภาพ ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้น

๖. ให้มีคณะกรรมการกลางที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและจัดทำมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับพันธกิจทั้ง ๔ ด้าน คือ ผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย

๖.๑ คณะกรรมการอำนวยการการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นผู้กำหนดนโยบายหลักและแนวปฏิบัติในการดำเนินการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย

๖.๒ คณะกรรมการดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นผู้กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ปัจจัย ตัวชี้วัด และเกณฑ์ประเมินตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับพันธกิจ ทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งกำหนด กลไก หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการประกัน คุณภาพ และดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการประกันคุณภาพของแต่ละหน่วยงาน ของมหาวิทยาลัย ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน และสถาบันสมทบเป็นประจำ พร้อมจัดทำสรุปเป็นรายงานผลการดำเนินการประกันคุณภาพประจำปี รวมทั้งมาตรการในการกระตุ้นให้ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย มีส่วนร่วมในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย

๗. ให้กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานกลางที่ดูแล พัฒนาระบบและกลไกในการดำเนินการประกันคุณภาพ ให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัย พร้อมกับติดตาม ดูแล ให้มีการนำระบบประกันคุณภาพไปใช้ในการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการของ แต่ละหน่วยงานของมหาวิทยาลัย ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน และสถาบันสมทบ เพื่อสร้างให้เกิดกลไกการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในทุกหน่วยงาน

๘. ให้แต่ละหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน และสถาบันสมทบ จัดทำระบบประกันคุณภาพภายในของตนให้สอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพ ของมหาวิทยาลัย พร้อมติดตามดูแลให้หน่วยงานย่อยภายในมีการดำเนินการตามภารกิจหลักที่ได้ กำหนดไว้ ตลอดจนประสานงานกับกองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี ในการจัดทำแผนงานประกันคุณภาพประจำปี

๙. ผู้บริหารทุกระดับของมหาวิทยาลัย จะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการรายงานสรุปผลการตรวจสอบและการประเมินของคณะ กรรมการดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษาของ มหาวิทยาลัย ไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

๑๐. ทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัย จะต้องชี้แจงให้ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรของตน ให้เข้าใจในระบบการประกันคุณภาพ ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบและมีส่วน ร่วมในการสร้างคุณภาพ อันจะส่งผลให้การดำเนินการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น