วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา


วัดบ้านไร่

 

เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งใน อ.ด่านขุนทด หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้ปลูกสร้างขึ้นเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2496 โดยเริ่มสร้างอุโบสถ มีชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่มาก การตัดไม้ในสมัยนั้น ไม่ค่อยสะดวกนัก ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแปรสภาพสำเร็จ ต้องเผชิญกับการขนย้ายที่ยากลำบาก อาศัยโคเทียมเกวียนหรือใช้แรงงานคนลากจูงบนทางที่แสนทุรกันดาร แต่หลวงพ่อคูณก็สามารถนำชาวบ้านช่วยกันสร้างอุโบสถจนสำเร็จ (ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว และก่อสร้างหลังใหม่แทน) นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย ปัจจุบันวัดบ้านไร่ได้มีการพัฒนาและมีผู้ใฝ่บุญจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาแสวงบุญ

 

วัดบ้านไร่ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เป็นสถานที่จำพรรษาของพระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ในแต่ละวันมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมานมัสการหลวงพ่อคูณเป็นจำนวนมาก ตรงหน้าปากทางเข้าวัดบ้านไร่ มีการตัดแต่งต้นไม้ให้เป็นระเบียบสวยงาม พร้อมทั้งทำความสะอาดป้ายวัดบ้านไร่ด้วย ส่วนถนนหน้าโรง เรียนวัดบ้านไร่ เข้าไปในวัดบ้านไร่ ยังมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อในบ้างช่วง ครั้นมาถึงบริเวณหน้าวัดบ้านไร่ เข้าไปจะพบเห็นหน้าพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณที่สวยงาม และเพิ่งเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ติดกับสระจระเข้ มีการตั้งร้านค้าขายของ ที่ได้ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบไม่วุ่นวาย ท้ายวัดเป็นป่าละเมาะเล็กๆ มีต้นไม้ใหญ่ปลูกให้ร่มรื่น ส่วนข้างอุโบสถวัดบ้านไร่ และบริเวณโดยรอบอุโบสถ ถูกจัดแต่งเป็นสวนหย่อมเล็กๆ มีไม้ประดับงดงาม

 

สถานที่ตั้ง

ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

 

วิธีการเดินทาง

มาตามถนนมิตร ภาพ ถึงกิโลเมตรที่ 237 แยกขวาผ่านอำเภอขามทะเลสอ และบ้านหนองสรวงไปจนถึงอำเภอด่านขุนทด ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากโรงพยาบาลด่านขุนทดใช้ทางหลวงหมายเลข 2217 เป็นระยะทางอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

 

ข้อมูลประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

 

เกิด                      วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466   ตรงกับแรม 10  ค่ำ เดือน10   ปีกุน  เป็นบุตรของนายบุญ  นางทองขาว  ฉัตรพลกรัง

อุปสมบท               ณ พัทธสีมาวัดบ้านถนนหักใหญ่  เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2486  ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก

หลวงพ่อคูณ ถือกำเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชือ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2466 (บางตำราว่าวันที่ ๔ ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน เป็นบุตรชายคนหัวปี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน คือ

๑ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

๒ นายคำมั่ง แจ้งแสงใส

๓ นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์

มารดาคือ นางทองขาว เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี ๓ นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขอำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกว่างให้แก่นางด้วย

“ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง”

 

การศึกษา

เนื่องด้วยบุรพกรรมและสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง ๓ คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ ๖-๗ ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ สถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนทำการสอนเช่นในสมัยปัจจุบัน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง ๓ ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย

 

อุปสมบท

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๘๗ (หนังสือบางแห่งว่า ปี ๒๔๘๖) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์

ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้ว หลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง) หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

หลวงพ่อคูณตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย ตามรอยพระพุทธองค์ ที่ตรัสไว้ว่า… ” เทว เม ภิกขเว วิชชา ภาคิยา” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชานั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑ สมถะ ความสงบระงับแห่งจิตที่ปราศจากกิเลสอาสวะทั้งปวง

๒ วิปัสสนา ความเห็นแจ้งซึ่งธรรมเบื้องสูงอันสุขุมลุ่มลึก ในทางพุทธศาสนาและจงเดินตามหนทางนั้นเถิด

หลวงพ่อคูณ ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้ เป็นเพื่อนกันต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ

หลวงพ่อคง พุทธฺสโร เป็นพระอาจารย์ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ และได้อบรมสั่งสอนให้กับหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพราง โดยการให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน น้นเรื่องการมี “สติ” ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทัน ในอารมณ์นั้น เช่น เมื่อเกิดอารมณ์ “หลง” ท่านให้พิจารณาว่า

“อนิจจัง ไม่เที่ยง

ทุกขัง เป็นความทุกข์

อนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นนาม จึงมิใช่ของเราและของเขา”

และท่านจึงให้แนวทางพิจารณา 5 ประการ คือ

พิจารณาว่า ความเกิดเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความเกิดนี้ได้

พิจารณาว่า ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความแก่นี้ได้

พิจารณาว่า ความเจ็บเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความเจ็บนี้ได้

พิจารณาว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความตายนี้ได้

พิจารณาว่า เรามีกรรมเป็นเรื่องธรรมดา เรามีกรรมเป็นของตนเอง เรากระทำความดี จักได้ดี เรากระทำความชั่ว จักได้ชั่ว”

ส่วนพระกัมฏฐานนั้น หลวงพ่อคงได้สอนให้ใช้หมวดอนุสติ โดยดึงเอาวิธีกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้ เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และ   ความหลง กำหนดลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เกิด สัมมาสมาธิ เรียกว่า “อานาปานสติ” เวลาล่วงเลยนานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรก ๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล ๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศเขมร มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง

 

สู่มาตุภูมิ

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากประเทศเขมรสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทาง พระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ.๒๔๙๖ โดยชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่มาก การตัดไม้ในสมัยนั้น ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแปรสภาพสำเร็จแล้ว ต้องเผชิญกับการขนย้ายที่ยากลำบาก โดยอาศัยโคเทียมเกวียนบ้าง ใช้แรงงานคนลากจูง บนทางที่แสนทุรกันดาร เนื่องจากถนนทางเกวียนนั้นเป็นดินทรายเสียส่วนใหญ่ เมื่อต้องรับน้ำหนักมากก็มักทำให้ล้อเกวียนจมลงในทราย การชักจูงไม้แต่ละเที่ยวจึงต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน

 

แต่กระนั้นหลวงพ่อก็สามารถนำชาวบ้านช่วยกันสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ (ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว และก่อสร้างหลังใหม่แทน) นอกจากสร้างพระอุโบสถแล้ว หลวงพ่อยังสร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ยังความสะดวกสบาย และความเจริญในบ้านไร่ยิ่งนัก แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เห็นสิ่งดังกล่าว เนื่องจากหลวงพ่อได้เปลี่ยนสิ่งก่อสร้างดังกล่าวทั้งหมด มาเป็นปูนเป็นอิฐให้สวยงามและทนทานยิ่งขึ้น

 

นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่อุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น หลวงพ่อยังได้สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนบริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ

 

สร้างวัตถุมงคล

หลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชแล้ว ๗ พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ.๒๔๙๓ “ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน” เป็นคำกล่าวของท่าน เนื่องจากวัตถุมงคลของหลวงพ่อได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ เมื่อมีผู้ถามว่า หลวงพ่อแจกให้กับคนไม่ดีเป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้หลวงพ่อไม่บาปหรือ“กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่า เป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม….” “ถ้ามีใจอยู่กับ “พุทโธ” ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง… ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก”

การปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณจะใช้คาถาไม่กีบท หัวใจพระคาถามีว่า

มะอะอุ

นะมะพะธะ

นโมพุทธายะ

พุทโธ และยานะ

แต่ในการปลุกเสก หลวงพ่อคูณจะใช้วิธี อนุโลมปฏิโลม (การต่อตามและย้อนลำดับ) เรียกว่า คาบพระคาถา เมื่อนำหัวใจธาตุ ๔ คือ นะมะพะธะ มาใช้ หลวงพ่อคูณจะภาวนาด้วยจิตอันเป็นหนึ่ง(สมาธิ) ให้อักขระทั้ง ๔ นี้ เป็น ๑๖ อักขระ ดังนี้

นะ มะ พะ ธะ

มะ พะ ธะ นะ

พะ ธะ นะ มะ

ธะ นะ มะ พะ

ระยะเวลาการปลุกเสกของท่านใช้เวลาไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์จิต ท่านเคยปรารภว่าเมื่อจะปลุกเสกวัตถุใด ใจต้องเป็นสมาธิ เมื่อใจมีสมาธิ ปลุกเสกสิ่งใดก็ขลัง ระยะเวลาหนึ่งนาทีก็ดีแล้ว แต่หากใจไม่เกิดสมาธิ ปลุกเสกทั้งคืนทั้งวันก็ไม่มีผล อย่างนี้สู้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า

 

ท่านั่งยอง

หลวงพ่อให้เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน

การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ

หลวงพ่อคูณได้จัดสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง ตลอดจนโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ ทุกๆวัน แต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายแสนบาท “หลวงพ่อเป็นคนยากจนมาโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินออกไปช่วยคนอื่น ก็จะมีคนบริจาคเรื่อยๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงิน ก็ไม่ค่อยสบายใจ”

 

ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ

หลวงพ่อคูณสั่งว่า เมื่อมีพระเครื่องของหลวงพ่อคูณติดตัว ให้ภาวนา “พุทโธ” ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ ค่าพ่อแม่ตน และพ่อแม่บุคคลอื่น และอย่าผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น ให้สวยมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และหวงพ่อคูณย้ำว่า “ถ้ามีใจอยู่กับ พุทโธ ให้เป็นกลาง ๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง…ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใด ๆ ในโลก”

 

คาถาที่หลวงพ่อคูณใช้บริกรรมเวลานั่งสมาธิ

เวลาหายใจเข้า ให้บริกรรมว่า ตาย

เวลาหายใจออก ให้บริกรรมว่า แน่

เป็นตายแน่… ตายแน่… ตายแน่ไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกสบาย จิตสงบ

 

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม

หลวงพ่อคูณ  ร่วมสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่ปี พ.ศ.2512  ขณะพำนักจำพรรษาอยู่วัดแจ้งนอก  อ.เมือง  เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมมากที่สุด  ไม่แพ้เหรียญรุ่นสร้างบารมี ปี 19  ซึ่งออกในนามวัดบ้านไร่

 

พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา

วัตถุมงคลท่านเด่นทางแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน

 

ลักษณะเด่น : นมัสการหลวงพ่อคูณ

วันละสองครั้ง 10.00-11.00 น.,14.00-17.00 น.ในแต่วันจะมีผู้ศรัทธานับพันคนมาเฝ้ารอกราบนมัสการและถวายวัตถุปัจจัย พร้อมทั้งขอพรจากหลวงพ่อคูณโดยให้ท่านเคาะหัวจนเป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อคูณไปแล้ว วัตถุปัจจัยที่หลวงพ่อคูณได้รับจากชาวบ้านโดยเฉพาะเงินนั้นท่านจะคืนบางส่วนแก่ผู้ถวาย เพื่อนำไปเป็นขวัญถุงในการทำมาหากินต่อไป และเงินทองทรัพย์สินที่มีผู้ถวายมานั้นท่านก็จะนำไปพัฒนาชุมชนย่านด่านขุนทด โดยสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้ยากไร้ในชุมชน จนได้ชื่อว่าเป็นพระที่ทำการบริจาคมากที่สุด วัตรปฏิบัติของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนทั่วประเทศ

 

พิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ วัดบ้านไร่

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเคยเป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้ (หลังเดิม) ก่อสร้างโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ และศิษยานุศิษย์ กรรมการวัด และประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธา ได้ร่วมกันก่อสร้าง เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2528 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2532 เนื่องจากศาลาการเปรียญหลังเดิม เป็นสร้างเป็นอาคารไม้ซึ้งเป็นสถานที่ซึ่งหลวงพ่อคูณใช้จำวัดและสนทนาธรรมกับลูกศิษย์ลูกหาและผู้นับถือหลวงพ่อคูณไม่สะดวกเพราะคับแคบ ต่อมาหลวงพ่อคูณได้ย้ายขึ้นไปจำวัดที่ศาลาการเปรียญหลังใหม่ ที่สร้างคล้ายอุโบสถตกแต่งสวยงามและสะดวกแก่ญาติโยมที่มากราบไหว้ เพราะมีห้องโถงกว้างขวาง บริเวณศาลาการเปรียญเดิมจึงได้ปรับปรุงโดยรอบและจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ขึ้นแทน เพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณตั้งแต่เยาว์วัย จนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ให้ญาติโยมจากทั่วสารทิศที่มากราบไหว้หลวงพ่อคูณ ได้ชมได้เข้าชมเรื่องราวอัตโนประวัติ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ พระเถระที่ได้รับขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” ชื่นชมวัตรปฏิบัติในสมณเพศที่ถือสันโดษและเป็นพระนักพัฒนา แรงศรัทธามหาชนที่มีต่อหลวงพ่อคูณ รวมทั้งการบริจาคทานจำนวนมหาศาล ในโอกาสเดียวกัน ออกแบบอาคารโดยมหาวิทยาลัยศีลปากร และปรับปรุงโดยวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อำเภอด่านขุนทด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านไร่

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ณ วัดบ้านไร่ เมื่อวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2552 เวลา 14.45 น. เท่ากับว่าพิพิธภัณฑ์ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการ

 

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แบ่งเป็น 2 ชั้น 10 โซน

– ชั้นที่ 1 – โซน 1 ศรัทธามหาชน, โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน, โซน 9 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี, โซน 10 ให้แล้วรวย

– ชั้นที่ 2 – โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ, โซน 4 ธุดงค์ 3 ประเทศ 3 พรรษา, โซน 5 พัฒนาวัดบ้านไร่, โซน 6 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว, โซน 7 มรดกทาน มรดกธรรม, โซน 8 มหาทานบารมีทวีคูณ

ขอนำพาทุกท่านเข้าสู่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด ดังนี้

เริ่มจากด้านหน้าทางเข้าประตูพิพิธภัณฑ์ ทันทีที่เราเปิดประตูเข้าไป จะพบเห็นข้อความ “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งให้หมดมันยิ่งได้” บนบอร์ดกราฟิกใสตั้งอยู่ตรงหน้าอย่างเป็นสง่า และชวนให้ขบคิด ในแต่ละโซนจะมีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมพิพิธภัณฑ์

“สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ เชิญทุกท่านเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณด้านในค่ะ” เสียงมัคคุเทศก์กล่าวต้อน รับผู้มาชม จะดังขึ้นเป็นระยะ

– โซน 1 ศรัทธามหาชน จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณท่านั่งยองๆ ขนาดเท่าจริงที่มีผู้สร้างนำมาถวาย ริมฝาผนังมีภาพจิตรกรรมแสดงภาพประชาชนจากภาคต่างๆ มากราบนมัสการหลวงพ่อ มีบอร์ดกราฟิกเรื่อง เอกลักษณ์หลวงพ่อคูณ อาทิ การนั่งยอง รับปัจจัยใบเดียว เหยียบโฉนด เคาะหัว วัตถุมงคล เป็นต้น

 

 

 

ตู้จัดแสดงสิ่งของที่มีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายหลวงพ่อ ภายใต้หัวข้อ “กูทำดี เขาจึงให้ของดีแก่กู” สิ่งของทั้งหมดที่อยู่ในตู้ประกอบด้วย เครื่องเบญจรงค์ เครื่องมุก ตู้พระธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ของส่วนใหญ่หลวงพ่อคูณยกให้คนอื่นไปหมดแล้ว

 

– โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน ด้านฝาผนังตั้งบอร์ดรูปหลวงพ่อคูณ สมัยยังเป็นพระหนุ่ม เวลาออกบิณฑบาตจะมีสัตว์ต่างๆ เช่น สุนัข ไก่ นก เดินตาม ท่านก็จะโยนอาหารให้เป็นทานตลอดทาง

ส่วนบริเวณข้างบันไดขึ้นไปที่ชั้น 2 จัดแสดงสิ่งของจำลองบรรยากาศเหมือนห้องจำวัด มีบอร์ดเล่าเรื่อง “ธรรมะข้างบันได” และภาพถ่ายขาวดำใส่กรอบเป็นรูปถ่ายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทับนั่งคู่กับหลวงพ่อคูณ จากตรงนี้ จะมีมัคคุเทศก์นำชมขึ้นไปที่ชั้น 2

– บนชั้น 2 เริ่มจากโซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ จัดแสดงหุ่นจำลอง ประกอบเทคนิคแสงเสียง ตอนโยมแม่ฝันเห็นดวงแก้ว อันเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้มีบุญที่กำลังจะถือกำเนิด และภาพจิตรกรรม กำเนิดผู้มีบุญ พร้อมด้วยเสียงบรรยายเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เด็กจนถึงเมื่อท่านตัดสินใจออกบวชและตั้งจิตปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

– โซน 4 ธุดงค์ 3 ประเทศ 3 พรรษา จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วนประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหวแสงเสียง และบอร์ดกราฟิก “จาริกบุญ จาริกธรรม” นำเสนอเรื่องเส้นทางธุดงค์ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เขมร ยังมีการจำลองเหตุการณ์เทศนาโปรดสัมภเวสี เมื่อครั้งออกธุดงค์ ในช่วงปี พ.ศ.2492-2495 โดยมีรูปหล่อจำลองหลวงพ่อคูณปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกลางป่า ในสถานที่อันสงบวิเวกเพียงลำพัง จากนั้นจะใช้เทคนิคภาพจำลองมัลติมีเดียเสมือนจริง เป็นรูปเสือโคร่งและภาพวิญญาณสัมภเวสีออกมาหลอกหลอน แต่ด้วยจิตใจอันแน่วแน่ของหลวงพ่อคูณ ทำให้ภัยอันตรายไม่สามารถเข้ามากล้ำกรายได้

– โซน 5 ถ้ากูไม่ทำแล้วใครจะทำ เป็นเรื่องราวของหลวงพ่อคูณหลังจากกลับธุดงค์ ท่านได้พัฒนาวัดบ้านไร่ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน 4 เหตุการณ์ ได้แก่ หลวงพ่อคูณสร้างโบสถ์ไม้เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระลูกวัด, หลวงพ่อคูณนำชาวบ้านขุดสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง

หลวงพ่อคูณปีนขึ้นเจิมป้ายโรงเรียนวัดบ้านไร่เพื่อความเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อคูณใช้ยอดสากตำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ นำมาสร้างพระเครื่องให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชา มีบอร์ดแสดงภาพของการพัฒนา

วัดบ้านไร่

 

การเดินทาง

จากกรุงเทพมหานคร มาตามถนนมิตรภาพ ก่อนเข้าตัวเมืองนครราชสีมา ที่หลักกิโลเมตร 237 แยกซ้ายเข้าอำเภอขามทะเลสอ บ้านหนองสรวง ตรงสู่อำเภอด่านขุนทด (หากออกจากตัวเมืองนครราชสีมา ไปตามถนนมิตรภาพ ถึงหลักกิโลเมตร 237 แยกขวา) ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ถึงโรงพยาบาลด่านขุนทดให้เส้นทางหลวงหมายเลข 2217 เป็นระยะทางอีก 11 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดบ้านไร่ และพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ

 

ติดต่อสอบถาม/สถานที่ตั้ง

วัดบ้านไร่ เลขที่ 111 บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุดทด จังหวัดนครราชสีมา 30210
โทร. 044- 253113 , 044- 249888