วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม


วัดพระธาตุพนม  

                วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ปัจจุบันมี พระเทพวรมุนี เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม

 

ลักษณะเด่นทางประวัติวัดพระธาตุพนม

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร  เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติควบคู่มากับองค์พระธาตุพนม และเชื่อมโยงวัดสำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)  โดยในตำนานอุรังคนิทานได้กล่าวถึงการก่อสร้างพระธาตุพนมในยุคแรกว่า พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นพุทธสาวกองค์สำคัญ พร้อมด้วยพระอรหันต์  500 องค์ นำพระอุรังคธาตุจากประเทศอินเดียแล้วร่วมกับเจ้าพญาทั้ง  5  นคร  คือ

  1. พญาสุวรรณภิงคารผู้ครองเมืองหนองหานหลวง
    2. พญาคำแดง        ผู้ครองเมืองหนองหานน้อย
    3. พญาจุลณีพรหมทัต  ผู้ครองแคว้น  12  จุไทย
    4. พญาอินทปฐนคร   ผู้ครองแคว้น  เขมรโบราณ
    5. พญานันทเสน  ผู้ครองอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ (โคตรบูร)

พระมหากัสสปเถระได้ให้พญาทั้ง 5 นคร ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมที่ดอยกปณคีรี หรือภูกำพร้าอยู่ในอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์  เมื่อสร้างพระธาตุพนมเสร็จ พระมหากัสสปเถระและเหล่าพระอรหันต์ เจ้าพญาเสด็จกลับไปแล้ว พระอินทร์และเหล่าเทพยดาทั้งปวงก็เสด็จมาฉลองพระธาตุ เป็นการใหญ่นับเป็นงานพระธาตุครั้งแรก

ในปี พ.ศ.200 ในยุคของพญาสุมิตตธรรมวงศาผู้ครองเมืองมรุกนคร และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์องค์ต่อมา ได้ร่วมกับพระอรหันต์ทั้ง 5  คือ พระมหารัตนเถระ  พระรัตนะเถระ พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ พระจุลสุวรรณปราสาทเถระและพระสังขวิชาเถระ ได้ร่วมกันบูรณะองค์พระธาตุพนมให้สูงขึ้นราว  24 เมตร หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์พระองค์ ได้ถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายบูชาพระธาตุแล้วยังได้มอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง 8 แห่งในเขตแดนนั้นซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,000 คน เป็นผู้ดูแลรักษาพระธาตุโดยไม่ต้องเสียส่วยอากรซึ่งเรียกว่า “ข้าโอกาสพระธาตุพนม”  จากนั้นมา ก็เข้าใจว่าคงจะมีงานพระธาตุเรื่อยมา

พ.ศ. 2233 – 2263  เจ้าราชครูหลวงโพนสเม็ก พระเถระชาวเวียงจันทน์ได้นำครอบครัวชาวเวียงจันทน์ประมาณ  3,000  ครอบครัว ล่องเรือมาตามแม่น้ำโขงและท่านได้เป็นผู้นำในการบูรณะองค์พระธาตุพนมครั้งใหญ่ โดยเสริมยอดพระธาตุพนมให้สูงขึ้นเป็น  47 เมตร ใช้เวลาในการบูรณะตั้งแต่  พ.ศ. 2236 – 2245  รวม  9  ปี เมื่อบูรณะเสร็จแล้วท่านได้นำครอบครัวเหล่านั้นไปอยู่ที่นครจำปาศักดิ์จนกระทั้งมรณภาพในปี พ.ศ.  2263  รวมอายุ 90 ปี

ในหนังสือประวัติเจ้าราชครูหลวงโพนสเม็ก เรียบเรียงโดยพระมหาแก้ว เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2482  มีข้อความตอนหนึ่งว่า อย่างน้อยท่านคงไปมาระหว่างจำปาศักดิ์กับพระธาตุพนมปีละครั้งในงานนมัสการเป็นกิจวัตร” แสดงให้เห็นว่างานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีมีขึ้นก่อน ยุคนั้นมาแล้ว ต่อมา พ.ศ. 2444  ท่านพระครูอุดรพิทักษ์ (บุญรอด  สมจิตร) ท่านได้เดินทางมาพร้อมคณะโดยทางเกวียนถึงวัดพระธาตุพนมและเริ่มลงมือบูรณะพระธาตุพนม เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนอ้าย  ปี พ.ศ.2444 ท่านพระครูใช้เวลาบูรณะองค์พระธาตุพนมประมาณ 2  เดือน จึงสำเร็จบริบูรณ์ได้ทำการฉลอง ณ  วันพุธ ขึ้น 13  ค่ำ  เดือน  3  จนถึงวันเพ็ญปีนั้นซึ่งเป็นวันมาฆบูชา และได้กลายเป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2485 วัดพระธาตุพนมได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร และเมื่อวันที่  11 สิงหาคม 2518  เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิมการก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่  23 มีนาคม 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุมีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม ปัจจุบันองค์พระธาตุ มีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม

 

ลักษณะเด่นพระธาตุพนมด้านความสำคัญ

พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานสำคัญอันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนริมสองฝั่งโขงและ

ประชาชนทั่วไป  พระธาตุพนม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา

เล่มที่ ๕๒  หน้า ๓๖๘๗  ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘  และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา

เล่มที่ ๙๖  ตอนที่ ๑๖๐  หน้า ๓๒๑๗  ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๒  มีพื้นที่ประมาณ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา  องค์พระธาตุพนม  ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร  ตำบลธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม  จังหวัด นครพนม  สถานที่ตั้งขององค์พระธาตุเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ ๒ เมตร  เนินดินอันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม

ตำนานว่า “ภูกำพร้า” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง (ห่างประมาณ ๖๐๐ เมตร)  ทิศตะวันออกติดถนนชยางกูร (ถนนสายนครพนม-อุบลราชธานี)  ห่างจากถนนสายนี้ไปทางทิศ ตะวันออกจะพบบึงน้ำกว้างประมาณ๓๐๐ เมตร ยาวขนานไปกับแม่น้ำโขง  เรียกกันในท้องถิ่นว่า “บึงธาตุ” และเชื่อกันว่าบึงนี้ถูกขุดขึ้นในอดีตเพื่อนำเอาดิน ที่ได้มาปั้นอิฐก่อองค์พระธาตุพนมขึ้น

ตามตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า  องค์พระธาตุพนมนี้สร้างครั้งแรกเมืองราว พ.ศ.๘  ขณะที่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ กำลังเจริญรุ่งเรือง  โดยเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ ทั้ง ๕  มีพญาศรีโคตรบูรณ์

เป็นต้น  และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์  ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นประมุข  เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระ

อุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปเถระนำมาจากอินเดียประดิษฐานไว้

ข้างใน

แม้ตามตำนานจะกล่าวว่าพระธาตุพนมถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๘  แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ปรากฏ  สันนิษฐานได้ว่าองค์พระธาตุพนมน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๔ หลักฐานสำคัญที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ คือ ภาพสลักอิฐแบบโบราณที่ประดับอยู่บริเวณส่วนเรือนธาตุของพระธาตุพนมอันมีลักษณะรูปแบบคล้ายศิลปะทวารวดีแบบฝีมือของช่างพื้นเมือง  จากหลักฐานยังเชื่อมโยงเส้นทางพุทธธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)  พุทธศาสนาเข้าสู่ภูมิภาคนี้กว่าสองพันปี  ซึ่งสอดคล้องทางตำนานและหลักฐานทางโบราณคดีของวัดเขาพระอังคาร  โบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษ   และใบเสมาพันปี  ศาสนสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่า มีใบเสมา 8 คู่ ตั้งอยู่ 8 ทิศ  พระพุทธศาสนาเจิญอยู่ในถิ่นนี้อาจถึงศองพันปี

เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพระสงฆ์และชนชั้นผู้ปกครอง  ประชาชนทั้งสองฝั่งโขง  องค์พระธาตุพนมได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยของพระเจ้าโพธิศาลราช แห่ง

อาณาจักรล้านช้าง (ราว พ.ศ.๒๐๗๒-๒๑๐๓) พระองค์ได้เสด็จลงมาบูรณะและสถาปนาวัดพระธาตุ

พนมขึ้นเป็นพระอารามหลวงจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เกิดเป็นประเพณีที่ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างในสมัยต่อ ๆ

มาจะลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนมเป็นประจำแทบทุกพระองค์

การบูรณะครั้งสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ การบูรณะของท่านราชครูโพนสะเม็กจากเมืองเวียงจันทร์

เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ โดยช่างจากนครเวียงจันทร์ ในการบูรณะครั้งนี้ทำให้พระธาตุพนมได้รับ

อิทธิพลรูปแบบส่วนยอดมาจากพระธาตุหลวงที่นครเวียงจันทร์ ซึ่งน่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบที่แน่นอนของ

องค์พระธาตุพนมตั้งแต่นั้นมา และได้กลายเป็นแบบฉบับของงานก่อสร้างองค์พระธาตุในภาคอีสานตอนบน

การบูรณะปรากฏอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๔ พระอุมัชฌาย์ทา วิคบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี

พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เลา กับคณะ ได้ธุดงค์มาถึงวัดพระธาตุพนม จึงคิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์ จึง

ได้เชิญพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางการช่างมาซ่อม โดยได้ทำ

การกะเทาะปูนเก่าที่ชำรุดแล้วโบกใหม่ ทาสีประดับกระจก กระเบื้องเคลือบในที่บางแห่ง และลงรักปิดทอง

ที่ยอด การบูรณะที่สำคัญอีกครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พลตรี

หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีและอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นดำเนินการ ในการบูรณะพระธาตุครั้งนี้ได้

ซ่อมแซมโดยเทคอนกรีตเสริมเหล็กจากส่วนเหนือฐานหรือพระธาตุชั้นที่ ๑ ขึ้นไปจนถึงยอดสุด แล้วต่อ

ยอดให้สูงขึ้นไปอีก ๑๐ เมตร และเพิ่มฉัตรทองคำเหนือยอดองค์พระธาตุ (เฉพาะฉัตรทองคำ ที่

ดำเนินการสร้างใหม่แทนฉัตรองค์เก่า สร้างแล้วเสร็จและนำไปประดิษฐานเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์

๒๔๙๗) การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ คือ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๙ ถึง เดือนมีนาคม ๒๕๒๒

กรมศิลปากรได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมขึ้นใหม่ภายหลังที่องค์พระธาตุพังทลายล้มทั้งองค์เมื่อวันที่

๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘

พระธาตุพนมนี้เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดย เฉพาะอย่างยิ่งชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงประชาชนลาวด้วย ในฤดูเทศกาล เพ็ญเดือน ๓ ของทุกปี พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ มาสมโภชและนมัสการพระธาตุพนม  และวัดดพระธาตุพนมเป็นวัดวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ถึงคราวพระราชพิธีราชาภิเษกทุกรัชกาลมา จะต้องนำน้ำจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ไปร่วมพิธีด้วยเพื่อประกอบพิธีมุรธาภิเษก และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือ ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีเดิม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นไม้ ทอง เงิน น้ำอบและผ้าคลุมส่งไปนมัสการพระธาตุพนมทุกปี และเมื่อถึงเทศกาลเข้าปุ ริมพรรษา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาทุกปีมา

 

ลักษณะเด่นพระธาตุพนมด้านสถาปัตยกรรม

รูปลักษณะพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ มีลวดลายสลักลงบนแผ่นอิฐสวย งามมาก มีซุ้มกั้นด้านและซุ้มซ้อนกันสามชั้น ลดหลั่นกันลงมา แล้วจึงถึงองค์พระสถูป เบื้องบนยอดพระธาตุหุ้มทองคำประดับพลอยสวยงามมาก สมเด็จพระกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงกล่าวถึงพระธาตุพนมไว้ใน นิทานโบราณคดีเรื่องแม่น้ำโขง ตอนหนึ่งว่า

“..พระเจดีย์ธาตุพนมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง สร้างเป็นสถูปทางพระพุทธ ศาสนาจะสร้างตามลัทธิมหายานหรือหินยาน ไม่มีที่สังเกตเหมือนอย่างที่พิมาย แต่ไม่ มีเค้าศาสนาพราหมณ์เจือปนอยู่เลย บรรดาเจดีย์สถานในพระพุทธศาสนาซึ่งสร้าง ใน สมัยของเขมรที่พบในเมืองไทย ที่สร้างสถูปเป็นประธานมีแต่พระธาตุพนมแห่งเดียว ทั้ง รูปสันฐานลวดลายก็เป็นอย่างอื่นต่างจากแบบช่างขอม ชวนให้เห็นว่าจะสร้างสมัยขอม คือ สร้างในสมัย เมื่อประเทศอันหนึ่งซึ่งเรียกในจดหมายจีนว่า “ฟูนัน” คล้าย “พนม “ เป็นใหญ่อยู่ต่างหาก รูปทรงพระเจดีย์ธาตุพนมเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนมณฑป มีซุ้มต้น สามซุ้มซ้อนกันเป็นสามชั้น เล็กเป็นหลั่นกันขึ้นไป แล้วถึงองค์พระสถูปอยู่เบื้องบน มณฑปทั้ง ๓ ชั้น ยอดสถูปหุ้มแผ่นทองคำ เช่นเดียวกับพระธาตุเมืองมหาธาตุเมือง นครศรีธรรมราช ขนาดพระสถูปดูจะเท่า ๆ กัน…”  ความสวยงามของพระธาตุพนมยังเป็นต้นแบบพระธาตุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวชมพุทธธรรม  ชมความสวยงามของพระตลอดเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะเด่นงานวัดพระธาตุพนม

งานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เป็นกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่วัดพระธาตุพนมจัดขึ้น ได้แก่ วันมาฆบูชา ขึ้น 15 เดือน 3 วันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6   วันอัฏฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือน 6    วันอาสาฬบูชา ขึ้น 15 เดือน 8  วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8   วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  วันตักบาตรเทโวโรหนะ แรม 1 ค่ำ เดือน 11  นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมงานบุญ  ชมวิถีพุทธท้องถิ่น

 

-งานพิธีศักดิ์สิทธิ์ อัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขง เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม งานบุญยิ่งใหญ่ในภาคอีสาน 9 วัน 9 คืน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี   โดยพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวลาว ประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุต จากริมแม่น้ำโขง เพื่อไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนมฯ ซึ่งถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจะจัดขึ้นทุกปีในภาคเช้า ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี เพื่อขอให้องค์พระอุปคุต ถือเป็นพระผู้มีอิทธิฤทธิ์ตามตำนานมาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา ปกป้องภยันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น จนกว่างานจะสำเร็จเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี

– งานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี  ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดังนี้ พิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล  ฟังพระธรรมเทศนา  ตักบาตรคู่อายุ  แห่กองบุญถวายพระธาตุพนม ห่มผ้าพระธาตุ เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ

-งานปฏิบัติบูชา ณ พระธาตุพนม ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน

องค์พระธาตุพนมเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญเจริญจิตภาวนาดังนั้นในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาบำเพ็ญภาวนาในวันพระ 8  ค่ำและวันพระ 15  ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ตลอดพรรษา 3 เดือน นอนบริเวณหน้าองค์พระธาตุ หรือบริเวณวิหารคตรอบองค์พระธาตุ บางคนบำเพ็ญเพียรภาวนาหน้าองค์พระธาตุทั้งคืน ระหว่างเข้าพรรษามีประชาชนมาเจริญจิตภาวนาค้างคืนประมาณ 50 คน

 

-การรำบูชาถวายพระธาตุพนม

การรำบูชาถวายองค์พระธาตุ จัดในวันเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมเป็นประเพณีมีมานาน เป็นการแสดงความสามัคคีของ 7 ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมประกอบด้วยเผ่าไทย้อ,ภูไท,ไทแสก,ไทโส้,ไทกะเลิง,ไทข่า,ไทยอีสาน, ทุกเผ่ามีจุดศูนย์รวมจิตใจคือองค์พระธาตุ ชนเผ่าต่างๆแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าของตนถ่ายทอดความเคารพศรัทธาต่อองค์พระธาตุผ่านการร่ายรำในท่วงท่าอันงดงามเพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม การร่ายรำเป็นสื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ทราบถึงการบูชาอย่างยิ่งใหญ่บวกกับความเชื่อว่าการรำถวายเป็นการถวายมือและแขนแด่พระธาตุกุศลแรงเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง  การรำบูชา จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าองค์พระธาตุพนม โดยมีคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ร่วมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี   ในงานได้มีพิธีแห่เครื่องสักการะโดยข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ร่วมแห่และกล่าวคำบูชาไหว้พระธาตุพนม หลังจากนั้น ได้จัดชุดรำบูชาพระธาตุพนม 7 ชุด คือ (1)รำตำนานพระธาตุพนม (2) รำศรีโคตรบูรณ์ (3)รำผู้ไท (4)รำหางนกยูง (5) รำไทยญ้อ (6) รำขันหมากเบ็ง และ(7)รำเซิ้งอีสาน

การรำถวายพระธาตุพนมจัดขึ้นในวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการฟ้อนรำต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากออกพรรษาแล้ว มีหลักฐานบันทึกไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า “ในพรรษาที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดีงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน  ประชาชนชาวชมพูทวีปได้รอคอยการเสด็จกลับจากดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า และเมื่อออกพรรษาเรียบร้อยแล้วพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาทางประตูเมืองสังกัสสนคร โดยมีพระพรหม พระอินทร์ เทวดา ตามมาส่งถึงเมืองมนุษย์ ในขบวนเสด็จนั้นปรากฏเทพบุตรตนหนึ่งถือพินดีดเป็นเพลงบรรเลงนำหน้าพระพุทธเจ้า”(ธรรมบท:105.2523)  อาศัยแนวคิดนี้จึงนำมาสู่การ   การรำบูชาองค์พระธาตุในวันออกพรรษา นับได้ว่าเป็นผลผลิตทางพระพุทธศาสนาของศาสนิก การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนอกจากจะได้บุญกุศลแล้วยังเป็นการสอนธรรมะทางพระพุทธศาสนาอีกด้วยคือ ความสามัคคี ดังคำบาลีว่า “สุขา  สงฺฆสฺส  สามคฺคี”ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้”ดังนั้น การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด มาเที่ยวชมประเพณีรำบูชาประธาตุพนม จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมืองของเผ่าต่างๆ

 

 

 

– งานสัตตนาคารำลึก งานรำลึกถึงพยานาคทั้ง 7 ตน ที่ดูแลพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11

วันสัตตนาคารำลึก

เนื่องจากวัดพระธาตุพนมตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงจึงปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคทั้ง 7 ตนมาให้ความเคารพและดูแลพระธาตุพนม ความเชื่อนี้ได้ฝังรากลึกในท้องถิ่นนั้นๆ ก่อให้เกิดประเพณีเกี่ยวกับพญานาค ดังนั้นวัดพระธาตุพนมจึงจัดงานวันรำลึกถึงพญานาคทั้ง 7  ที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม ในงานมีพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุ พิธีบวงสรวงต้อนรับพญานาคทั้ง 7 องค์ กำหนดจัดงานในวันขึ้น 5  ค่ำ เดือน 11ของทุกปี เหตุผลที่กำหนดวันเวลาดังกล่าวนั้นเพราะว่าในพ.ศ.2500วันเวลาดังกล่าวพญานาคมาประทับทรงสามเณร ได้บอกกล่าวในการที่ตนได้รับผิดชอบดูแลองค์พระธาตุมาตั้งแต่เริ่มสร้างองค์พระธาตุ   ดังนั้นเมื่อถึงวันเวลาดังกล่าวทางวัดจึงจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์  พิธีบวชปฏิบัติธรรมอุทิศส่วนกุศลแด่องค์พญานาคทั้ง 7 องค์ โดยมีโอรสและธิดาของพญานาคเป็นแม่งานร่วมกับพระสงฆ์  ที่ลานพระธาตุพนมตลอดทั้งคืน ดังนั้นงานนมัสการพระธาตุพนมกำหนดตามจันทรคติ คือวันขึ้น 8 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 เป็นประจำทุกปี

 

 

ลักษณะเด่นศรัทธาวัดพระธาตุพนม

ประเพณีนมัสการพระธาตุพนม  มีความสำคัญสืบทอดมาแต่สมัยโบราณ โดยบรรดาชาวพุทธในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและในประเทศลาว เชื่อถือสืบ ๆ กันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องสักการะบูชาหน้าองค์พระธาตุพนม จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อตายแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนม  ไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี อีกด้วย   ทำให้ทุกปีในวันงานจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศของไทยและชาวลาว  ต่างเดินทางกันมาร่วมพิธีกรรมมากมาย กว่า 100,000 คนต่อปี   พร้อมมีการจัดมหรสพสมโภชคึกคักสนุกสนานจัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

 

และวัดพระธาตุพนมยังจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่

 

– งานบูรพาจารย์รำลึก ทำบุญอุทิศให้อดีตเจ้าอาวาส และบูรพาจารย์ของวัดพระธาตุพนมตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน11

– งานพระธาตุพนมรำลึกและมอบทุนการศึกษา แก่ผู้สอบได้บาลี ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคน ของทุกปี

 

– การสวดมนต์ข้ามปี

วัดพระธาตุพนมเป็นที่มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบให้จัดพิธีสวดมนต์ข้ามปี ทำความดี ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เป็นประจำทุกปี ในงานมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการสวดมนต์ ประโยชน์ของการสวดมนต์คือทำให้จิตรวมเป็นหนึ่งเป็นการฝึกสมาธิในขณะที่สวดทำให้ผู้สวดได้สติปัญญา ละโลภ โกรธ หลง ในขณะสวดมนต์ เป็นการเสริมสร้างศิริมงคล แก่ตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ  บำบัดโรคเซื่องซึม  ทำให้เกิดพลัง สดชื่นกระฉับกระเฉงเหนือสิ่งอื่นใดได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า คือพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า  จัดงานวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี  ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ในประจำปี 2558 ณ ลานหน้าวัดพระธาตุพนม เริ่มละเบียนรับหนังสือสวดมนต์ เวลา 18.00 น. ถึงเช้า

ให้นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวทางพุทธธรรมตลอดปี

การเดินทาง

โดยรถยนต์  จากอำเภอเมืองนครพนมเดินทางมาทางทิศใต้ตามเส้นทาง

หลวง 212 ประมาณ 50 กิโลเมตรถึงอำเภอธาตุพนม
โดยรถประจำทาง  จากกรุงเทพมีรถโดยสารไปยังอำเภอธาตุพนมโดยตรง ดูรายละเอียดได้ที่ www.transport.co.th หรือจากสถานีขนส่งนครพนม มีรถโดยสารไปอำเภอธาตุพนม