วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี


วัดหนองป่าพง  จ.อุบลราชธานี

                         ประวัติวัดหนองป่าพง

วัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ที่บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ไปทางอำเภอกันทรลักษณ์ ตามถนนทางหลวงหมายเลข 2178 ประมาณ 8 กม. โดยได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2517 ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 71 โดยกำหนดเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร มีพื้นที่ป่าภายในเขตกำแพง 186 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา จุดเริ่มต้นของวัดหนองป่าพง เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 (ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง) พระโพธิญาณเถร  (ชา สุภทฺโท) ท่านได้เดินธุดงค์มาถึง “ดงป่าพง”ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 3 กิโลเมตร พร้อมด้วยลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึง ก็ได้ทำการปักกลดเรียงรายอยู่ตามชายป่าประมาณ 5-6 แห่ง ดงป่าพงในสมัยนั้น มีสภาพเป็นป่าทึบรกร้าง ชุกชุมด้วยไข้ป่า ในอดีตป่าพงเป็นดงใหญ่ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านเรียกดงดิบนี้ว่า “หนองป่าพง” เพราะใจกลางป่ามีหนองน้ำใหญ่ที่มีกอพงขึ้นอยู่หนาแน่น ต่อมาบริเวณผืนป่าส่วนใหญ่ถูกทำลายหมดไป ยังคงเหลือเพียงส่วนที่เป็นบริเวณของวัดในปัจจุบันเท่านั้น สาเหตุที่ป่าส่วนนี้ไม่ถูกบุกรุกถากถาง เพราะชาวบ้านเชื่อถือกันว่า มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ในดงนั้น เพราะปรากฏอยู่เสมอว่า คนที่เข้าไปทำไร่ตัดไม้หรือล่าสัตว์ เมื่อกลับออกมามักมีอันต้องล้มตายไปทุกราย โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านจึงพากันเกรงกลัวภัยมืดนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปทำลาย หรืออาศัยทำกินในป่านี้เลย ดงป่าพงจึงดำรงความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ ชื่อ “วัดหนองป่าพง” นี้ เป็นชื่อที่หลวงพ่อคิดตั้งขึ้นเอง โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากก็คือ “ วัดป่าพง” โดยระยะแรกๆ หลวงปู่ชา สุภทฺโท และลูกศิษย์ต้องต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกับไข้ป่า ซึ่งขณะนั้นชุกชุมมาก เพราะเป็นป่าทึบ ยามพระเณรป่วยหายารักษายาก ต้องต้มบอระเพ็ดฉันพอประทังไปตามมีตามเกิด โดยที่ท่านไม่ยอมขอความช่วยเหลือเลย เพราะว่า ท่านต้องการให้ผู้ที่มาพบเห็นด้วยตา แล้วเกิดความเลื่อมใสเอง หลวงพ่อสอนอยู่เสมอว่า พระไปยุ่งกับการหาเงินก่อสร้างวัด เป็นสิ่งน่าเกลียด แต่ให้พระสร้างคน คนจะสร้างวัดเอง

จากวัดเล็กๆที่มีบรรณศาลา (กระท่อม) ไม่กี่หลัง จึงได้มีสิ่งก่อสร้างอันควรแก่สมณวิสัยเพิ่มเติม จนพอแก่ความต้องการในปัจจุบัน ทั้งที่พักอาศัยของภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาที่มาค้างแรมเพื่อปฏิบัติธรรม กระท่อมชั่วคราว ได้กลายมาเป็นกุฏิถาวรจำนวนมาก ศาลามุงหญ้า ซึ่งเคยใช้เป็นที่ฉันและแสดงธรรม ได้เปลี่ยนมาเป็นศาลาและโรงฉันอันถาวร กำแพงวัด หอระฆังเสนาเสนาะอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้นจากแรงศรัทธา ความเลื่อมใสนั้นเอง

วัดหนองป่าพงเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ อันสงบอันสงัด มีบรรยากาศร่มเย็นเหมาะ แก่การพำนักอาศัยเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมชีวิตพระในวัดหนองป่าพง มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การประพฤติพรหมจรรย์์ตามรอยพระยุคลบาท ของพระบรมศาสดา ที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบเงียบ และเรียบง่ายภายในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มหาชนทั่วไป

การดำเนินชีวิตในวัดหนองป่าพง ยึดหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เป็นแนวทางปฏิบัติฝึกหัดกายวาจาใจในชีวิตประจำวัน เน้นการศึกษาประพฤติ ปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งนำธุดงควัตร 13 วัตร 14 และกำหนดกฎกติการะเบียบต่างๆ มาผสมผสานเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการบำเพ็ญสมณธรรมให้ดำเนินไปด้วยดี และมีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นแนวทางการปฏิบัติและธรรมชาติของป่าภายในสำนัก เป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมให้การดำรงชีวิตของพระภิกษุเป็นไปด้วยความเรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติ และประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ ตามแบบของพระธุดงค์กรรมฐาน ผู้มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นไปเพื่อขัดเกลาทำลายกิเลสที่ครูบาอาจารย์ได้พาดำเนินมา  จีวรและบริขารอื่นๆ ของภิกษุจะมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจัดรวบรวมไว้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนกลาง มีภิกษุผู้รักษาเรือนคลังสงฆ์เป็นผู้แจกในกาลเวลาที่เหมาะสม การบริโภคอาหารมีเพียงมื้อเดียวตอนเช้า และฉันในบาตร เสนาสนะที่พักอาศัยเป็นกุฏิหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างกันในราวป่าท่ามกลางความร่มรื่นแห่งหมู่ไม้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภาวนาได้อย่างสงบสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอันสงบและบริสุทธิ์ของป่า ช่วยให้จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติได้สัมผัสกับความรู้สึกสงบเย็น สดชื่น เบิกบาน มีอิสระ เป็นความสุขที่ปราศจากความเร่าร้อน กระวนกระวาย เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิเวก ความสงบกาย และอุปธิวิเวก ความสงบกิเลส อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาต่อไป