หลักสูตรระดับประกาศนียบัตร การสอนศีลธรรมในโรงเรียน

  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

  • ชื่อหลักสูตร: หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรการสอนศีลธรรมในโรงเรียน

 Certificate Program in School Morality Teaching

๒. ชื่อประกาศนียบัตร: ประกาศนียบัตรการสอนศีลธรรมในโรงเรียน (ป.สศ.)

         Certificate in School Morality Teaching (Cert. in MT.)

๓. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

๑. ศูนย์อำนวยการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน วิทยาเขตนครราชสีมา

๒. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๔. ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ก. ปรัชญาของหลักสูตร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป ศูนย์อำนวยการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน วิทยาเขตนครราชสีมา และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีเป้าหมายชัดเจนที่จะสนองงานคณะสงฆ์โดยการพัฒนาคุณลักษณะของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่พึงประสงค์คือ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนารู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม อีกทั้งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในการที่จะพัฒนาตนเองที่สามารถศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

๑. เพื่อให้พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนและครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนได้มีคุณวุฒิทางการศึกษาที่สามารถทำการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนได้

๒. เพื่อผลิตพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนในระดับประกาศนียบัตรและครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา ให้สามารถนำ ความรู้ด้านการสอนศีลธรรมในโรงเรียน ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการสอนพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม

๓. เพื่อให้พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนได้มีคุณวุฒิทางการศึกษาที่สามารถศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาตรีได้

๕. เกณฑ์การเปิดสอน

หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์จะเปิดสอนหลักสูตรนี้สามารถดำเนินการขออนุมัติโครงการเปิดสอนตามขั้นตอน คือ

๕.๑ ประสานงานกับภาควิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ กองวิชาการ และกองแผนงานสำนักงานอธิการบดี เพื่อจัดทำโครงการเปิดสอนหลักสูตร

๕.๒ ขอความเห็นชอบในการเปิดหลักสูตรจากคณะกรรมการประจำคณะครุศาสตร์

๕.๓ สภาวิชาการให้ความเห็นชอบในการเปิดสอนหลักสูตร

๖. คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

๖.๑ เป็นพระสังฆาธิการที่สอบได้นักธรรมชั้นเอก หรือ

๖.๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่ได้รับแต่งตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปีและเป็นผู้ที่สอบได้นักธรรมชั้นเอก หรือ

๖.๓ เป็นพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่มีประสบการณ์การสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๒ ปีและเป็นผู้ที่สอบได้นักธรรมชั้นเอก หรือ

๖.๔ เป็นครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน โดยได้รับอนุมัติจากต้นสังกัด หรือ

๖.๕ เป็นผู้ที่มหาวิทยาลัยอนุมัติให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษเพื่อขอรับประกาศนียบัตรตามที่สภาวิชาการเห็นชอบ

๗. ระบบการศึกษา

ใช้ระบบหน่วยกิตทวิภาค (Semester Credit System) โดยแบ่งเวลาการศึกษาในปีการศึกษา ออกเป็น ๒ ภาคการศึกษาปกติ แต่ละภาค มีเวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๑๖ สัปดาห์

๘. ระยะเวลาการศึกษา

ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร ๑ ปี หรือต้องไม่ต่ำกว่า ๒ ภาคการศึกษาปกติ แต่อย่างมากไม่เกิน ๒ เท่าของระยะเวลาการศึกษาปกติของหลักสูตร

๙. การลงทะเบียนเรียน

          กำหนดให้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ ๑ จำนวน ๑๖ หน่วยกิต และในภาคการศึกษาที่ ๒ จำนวน ๑๔ หน่วยกิต ส่วนรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนโดยไม่นับหน่วยกิตให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการจัดแผนการสอนของแต่ละแห่ง

๑๐. การวัดผลและการสำเร็จการศึกษา

เป็นไปตามข้อบังคับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรีโดยอนุโลม และโดยเกณฑ์ทั่วไป คือ

๑๐.๑ ให้มีการวัดผลการศึกษาทุกรายวิชาที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนไว้ในแต่ละภาคการศึกษา

๑๐.๒ นักศึกษาต้องมีเวลาเรียนในแต่ละรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของเวลาเรียนทั้งหมดในภาคการศึกษานั้น จึงจะมีสิทธิเข้าสอบในรายวิชานั้น

๑๐.๓ การประเมินผลการศึกษาในแต่ละรายวิชานั้น ให้มีผลการศึกษาระดับ (Grade)และค่าระดับ (Grade Point) ดังนี้

ผลการศึกษา คะแนน ระดับ ค่าระดับ
ดีเยี่ยม (Excellent) ๙๐-๑๐๐ A ๔.๐๐
ดีมาก (Very Good) ๘๕-๘๙ B + ๓.๕๐
ดี (Good) ๘๐-๘๔ B ๓.๐๐
ค่อนข้างดี (Very Fair) ๗๕-๗๙ C + ๒.๕๐
พอใช้ (Fair) ๗๐-๗๔ C ๒.๐๐
ค่อนข้างพอใช้ (Quite Fair) ๖๕-๖๙ D + ๑.๕๐
อ่อน (Poor) ๖๐-๖๔ D ๑.๐๐
ตก (Failed) ต่ำกว่า ๖๐ F

ทั้งนี้เกณฑ์คะแนนต่ำสุดที่ถือว่าผ่านในรายวิชานั้นๆ คือ ระดับ D

๑๐.๔ นักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาต้องมีคุณสมบัติคือ

ก. สอบได้หน่วยกิตสะสมครบตามหลักสูตรเข้าศึกษาภายในระยะเวลาไม่เกิน ๒ เท่าของเวลาการศึกษาตามหลักสูตรและมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่าค่าระดับ ๒.๐๐

ข. ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ค. มีความประพฤติดี

ง. ไม่มีพันธะอื่นใดกับมหาวิทยาลัย

๑๐.๕ นักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่ทั้งนี้ต้องได้รับค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐