วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น


วัดอุดมคงคาคีรีเขต

วัดอุดมคงคาคีรีเขต มีชื่อเดิมว่า “วัดดูน” ตั้งอยู่ในเขตของตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น คำว่า “ดูน” เป็นภาษาอีสานหมายถึงแหล่งน้ำนี้เป็นน้ำที่ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติ  ดังนั้น “วัดดูน” จึงเป็นชื่อที่มาจากลักษณะของสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำที่ซึมไหลออกมาตลอดปีมิได้ขาดและด้วยความที่วัดดูนแห่งนี้ในอดีตเป็นโบราณสถานเก่าแก่ ชาวบ้านแถบนี้จึงเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีคนหรือพระรูปใดสามารถเข้าไปอยู่ได้  บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับชาวบ้าน แต่สำหรับพระป่ากรรมฐานแล้ว  ถือเป็นที่สัปปายะ  และพระอาจารย์มหาสีทน กาญจโน” วัดสมศรี (บ้านพระคือ) ตำบลในเมือง (พระลับ) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในกองทัพธรรมของพระป่าแห่งภาคอีสาน ลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ฯลฯ   ได้เข้ามาปฏิบัติธรรม อีกทั้งพระอาจารย์มหาสีทนเป็นพระป่ากรรมฐานที่มีวิชาอาคม สอบผ่านเปรียญธรรม ๓ ประโยค   ออกเดินธุดงค์แสวงหาความสงบและเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงการสร้างวัดวาอารามและถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ในพระพุทธศาสนาหลายแห่ง  เมื่อท่านได้เดินธุดงค์มาถึงบริเวณเขตวัดดูนซึ่งตั้งอยู่ติดกับเชิงเขาภูผาแดงซึ่งเป็นทิวเขาที่ไม่มียอดเขาสูงและเทือกเขาภูเม็งซึ่งเป็นภูเขาใหญ่มียอดเขาสูงและกั้นแดนระหว่างอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นกับอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ท่านจึงได้หยุดเดินธุดงค์และทำการบูรณะเมื่อปี ๒๔๘๒ พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจากวัดดูนมาเป็น “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” มีความหมายว่าสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีภูเขาเป็นอาณาเขต  ในระยะแรกที่พระอาจารย์มหาสีทนอยู่จำพรรษา สิ่งปลูกสร้างในวัดมีเพียงศาลาและกุฎิหลังคาแฝกเพียงหลังเดียวเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่า เพราะเหตุใดพระอาจารย์มหาสีทนจึงมิได้ขยับขยายหรือเร่งรีบในการก่อสร้างเท่าใดนัก? ผิดกับวัดอื่นๆ ที่ท่านเคยสร้างมา ประหนึ่งเหมือนท่านจะรอคอยบางอย่าง  และ๑๐ ปีต่อมา(๒๔๙๒)  หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  พระภิกษุวัย ๔๗ ปีได้ออกจากวัดป่าบรรลังค์ศิลาทิพย์และเดินธุดงค์มายังเขาภูผาแดง สมัยนั้นบนภูผาแดงแห่งนี้ยังเป็นป่าดงดิบ สัตว์ร้ายมีมาก ภูติผีปีศาจมีเยอะ  ที่นั่นท่านได้พบ ถ้ำกงเกวียน ซึ่งเป็นถ้ำลึกลับอยู่บนภูผาแดง ไม่มีใครทราบว่าถ้ำแห่งนี้เมื่อเดินเข้าไปแล้วจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

หลวงปู่ผางได้ใช้ถ้ำแห่งนี้  บำเพ็ญเพียรภาวนาและในเวลาต่อมาได้ทราบจากนิมิตว่าที่นี่มีโครงกระดูกของท่านแต่อดีตชาติถูกฝังไว้ เพราะเมื่อชาติก่อนท่านได้ตายในขณะที่กำลังสร้างพระเจดีย์ พอตกมาถึงชาตินี้ด้วยจิตใจอันตั้งมั่นที่จะสร้างพระเจดีย์ทำให้ท่านมีความผูกพันจนเกิดเป็นนิมิตต่างๆ ดลใจให้ท่านมายังสถานที่แห่งนี้  ในสมัยก่อนยังไม่ได้มีการกำหนดอาณาเขตของวัดชัดเจน  และบริเวณแห่งนี้เป็นป่าดงดิบ ถ้ำกงเกวียนถึงแม้จะอยู่ห่างจากวัดอุดมคงคาคีรีเขตออกไปไม่ไกลมากนัก(ต่อมาหลวงปู่ผางได้สร้างเป็นเจดีย์เล็กๆ ครอบปากถ้ำเอาไว้ เรียกว่า “พระเจดีย์ถ้ำกงเกวียน” ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวัด)

การปฏิบัติกัมมัฏฐานของพระกัมมัฏฐานทั้งสององค์นี้  ดูคลายนั่งหันหลังให้กันเพราะต่างองค์ต่างนั่งภาวนาในที่ของตนเอง คือหลวงปู่ผางอยู่ในถ้ำบนเขา ส่วนพระอาจารย์มหาสีทนอยู่บริเวณเชิงเขา

ต่อมาหลวงปู่ผางได้เดินธุดงค์ต่อมาจนมาถึงวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลังจากที่อริยสงฆ์ทั้งสององค์ได้พูดคุยกันอย่างถูกคอในฐานะศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน  แม้หลวงปู่ผางจะอายุมากกว่าพระอาจารย์มหาสีทนแต่ตามธรรมเนียมพระที่นับอาวุโสจากพรรษาที่บวช หลวงปู่ผางผู้มาเยือนจึงได้ก้มลงกราบพระอาจารย์มหาสีทนและขออยู่จำพรรษาที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต ในที่สุดเหตุผลของการรอคอยก็ปรากฏ

 

พระอาจารย์มหาสีทน  มองอนาคตเบื้องหน้าว่า “ต่อไปวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยฝีมือและบารมีของผู้มาเยือน”  ดังนั้นเมื่อหลวงปู่ผางได้ถวายตัวเป็นศิษย์ ท่านจึงได้เมตตาแนะนำการปฏิบัติกรรมฐานพร้อมกับถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้หลวงปู่ผางจนหมดสิ้น  ในเวลาไม่นานนักหลวงปู่ผางสามารถเรียนรู้และแตกฉานในสิ่งต่างๆ ที่พระอาจารย์มหาสีทนได้สอน และเมื่อพระอาจารย์มหาสีทนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลวงปู่ผางสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้ขอลาและออกเดินธุดงค์ไปทางภาคเหนือและไม่ได้กลับมาวัดอุดมคงคาคีรีเขตอีกเลย

หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน) จ.ขอนแก่น มีซื่อบ่ให้ปรากฏ มียศบ่ให้ลือชา มีตำราบ่ให้เฮียนยาก “ศีลมีมากหลายข้อ ไม่ต้องรักษาหมดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจของเจ้าให้ดีอย่างเดียว กาย วาจา ก็จะดีไปด้วยกันนั่นแหละ”

 

ลักษณะเด่นวัดอุดมคงคาคีรีเขต

 ลักษณะเด่นของการเข้ามาท่องเที่ยววัดอุดมคงคาคีรีเขต เป็นการเข้ากราบพระธาตุของ “หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต” ซึ่งพุทธศาสนิกชนศรัทธา  ๒  ด้าน  ดังนี้

ด้านพระกัมมัฏฐาน เพราะหนึ่งคือ “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” เป็นวัดป่ากรรมฐานที่มีชื่อเสียของ

จังหวัดขอนแก่น และหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  ท่านเป็นพระป่ากรรมฐาน  ปฏิปทาของและวัตรปฏิบัติที่เข้มแข็ง  ใจเด็ด ไม่ย่อท้อและพากเพียรในการปฏิบัติ   โดยหลังจากอุปสมบทแล้วได้เข้าอบรมพระกรรมฐานในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ”พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม” (พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) และ “พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล” ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม (พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) เป็นศิษย์ต้นองค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และเป็น”หนึ่งในสามพระบูรพาจารย์สายกรรมฐานที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” (หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นและหลวงปู่สิงห์)  ดังนั้นการที่หลวงปู่ผางได้มีโอกาสเข้าอบรมศึกษากับพระสายกัมมัฏฐานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน)  ท่าน จึงเปรียบเสมือนมือกระบี่ได้รับกระบี่คู่ใจไว้ใช้สำหรับห้ำหั่นกับบรรดาเหล่ากิเลสมารต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และเพื่อความสะดวกในการประกอบสังฆกรรมร่วมกับหมู่คณะ หลวงปู่ผางจึงได้ญัตติใหม่ในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบ้านโนน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  หลังจากได้ศึกษาจนมีความรู้ความชำนาญดีแล้ว หลวงปู่ผางจึงได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามลำพังไปยังสถานที่ต่างๆ จนมาพบกับ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” และ “หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล” ซึ่งเมื่อท่านได้รับโอวาทอุบายธรรมที่เป็นธรรมอันแท้จริงประกอบกับการภาวนาจนจิตสงบพบกับความอัศจรรย์ของธรรม เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและอยู่เข้าอบรมกับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ภายหลังหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต มรณภาพแล้ว  พุทธศาสนิกชนได้สร้างอนุสรณ์สถานบรรจุอัฐิของหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  ใว้ภายในวัดอุดมคงคาคีรีเขต  มีความสวยงาม  โดดเด่น  ดึงดูดความสนใจต่อผู้มาเยือน  และใกล้ๆ  มีรูปเหมือนหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  ซึ่งสร้างบนพื้นที่ฌาปนกิจสรีระของท่าน  สดุดตากับกองก้อนหินที่วางเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นรูปสัญญลักษณ์คล้ายสถูปเจดีย์

ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลมากมายหลายรุ่นที่ท่านได้เมตตาโลกโดยการอธิษฐานจิตไว้ให้เพื่อเป็นอนุสติ เป็นธรรมรักษา  ส่วนรายได้ใช้เป็นทุนสร้างอุโบสถและสาธารณะสถานใว้ในพระพุทธศาสนา  แต่มีนักสะสมพระเครืองหลายท่าน  นำพระเครื่องที่หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  สร้างขึ้นไปทดลองยิง  ผลเป็นที่ประจักษ์และขอขมาตามมา  ส่งผลให้มีการบอกต่อและเกิดแรงศรัทธาในวัตถุมงคลหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่นิยมมาเที่ยววัดอุดมคงคาคีรีเขต  มักเป็นผู้นิยมพระเครื่อง  หลังกราบใหว้รูปเหมือนและอนุสรณ์สถานบรรจุอัฐิของหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  จะบูชาวัตถุมงคล  ลักษณะเด่นของวัตถุมงคลเป็นวัตถุมงคลที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  ยังมีชีวิตอยู่  โดยเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน  เป็นคนท้องถิ่น  เก็บรักษาวัตถุมงคลพร้อมถ่ายทอดเล่าเรื่องพระเครื่องที่หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต  ได้  อนึ่งเหรียนรุ่นต่างๆ  นั้นมีให้บูชาตามความสนใจของนักสะสม  ค่านิยมเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนบาท  ในแต่ละสัปดาห์มีนักสะสมเข้ามาบูชาอย่างต่อเนื่อง