Png

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์และโปรดให้เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ต่อมาวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” โดยมีพระราชประสงค์ให้ใช้ “เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาการชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์”

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐฺานทตฺตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้จัดประชุมพระเถรานุเถระฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป เพื่อดำเนินการจัดการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาการชั้นสูง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และดำเนินการจัดการศึกษามาโดยลำดับ

พ.ศ. ๒๕๑๒ มหาเถรสมาคมออกคำสั่งเรื่อง “การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๑๒” และเรื่อง สภาการศึกษาของคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๑๒”  ส่งผลให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีสถานะเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยโดยสมบูรณ์

๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยาฐานะผู้สำเร็จวิชาการทางพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ ระบุไว้ในมาตรา ๔ (๓) ว่า “ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยาฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า “พุทธศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “พธ.บ.”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก ลงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล กำหนดสถานภาพและวัตถุประสงค์ (ตามมาตรา ๖) ไว้ “ให้เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์  รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”

ผลจากความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหารงานการจัดการศึกษา สามารถพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการองค์กรให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตนครราชสีมา

ปีพุทธศักราช  ๒๕๑๓  เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี  (ธีร์  ปุณฺณกเถร, ป.ธ.๙) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก  เจ้าอาวาสวัดจักวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้ปรารภว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  จังหวัดนครราชสีมา  มีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์มากที่สุด เพราะเป็นเมืองเอก  เป็นศูนย์กลางการศึกษามาแต่เดิมจากคำปรารภของเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระเถรานุเถระในจังหวัดนครราชสีมาและกรุงเทพมหานคร  ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมและตั้งคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา  โดยมีพระศรีกิตติโสภณ  (เกียรติ  สุกิตฺติ,ป.ธ.๗)  ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมมุนี เป็นประธาน ได้ประชุมและเตรียมงานด้านต่างๆ  ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๓  เป็นต้นมาและที่ประชุมมีมติให้คณะสงฆ์ภาค ๑๑ เป็นผู้ดำเนินงาน

ต่อมาปีพุทธศักราช  ๒๕๒๙  พระเถระและผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมทั้งพระสังฆาธิการในจังหวัดนครราชสีมาและคณะสงฆ์ภาค ๑๑ มีพระพรหมคุณาภรณ์  (พุ่ม กิตฺติสารเถร, ป.ธ.๗)  เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์  เจ้าคณะภาค  ๑๑  เจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร และ พระธรรมวรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธี, ป.ธ. ๖) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสีหราชสมาจารมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา  ได้ประชุมและมีมติให้จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมาขึ้น  (ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙)  เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร และเพื่อให้จัดการศึกษามีความสมบูรณ์แห่งวิทยฐานะตามกฎหมาย  พระพรหมคุณาภรณ์  (พุ่ม  กิตฺติสารเถร, ป.ธ. ๗)  ประธานสภาวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา  ได้ทำหนังสือลงวันที่  ๕  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙  ไปยังสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อขออนุมัติรับวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ต่อมามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย  ครั้งที่  ๕/๒๕๒๙  ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้วิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมาเป็นวิทยาเขตนครราชสีมา (ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ) และมีมติให้ดำเนินการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นต้นมา

ด้านการจัดการศึกษา ได้เปิดสอนหลักระดับปริญญาตรี ๕ สาขาวิชาดังนี้

๑. สาขาวิชาพระพุทธศาสนา

๒. สาขาวิชาการสอนภาษาไทย

๓. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ

๔. สาขาวิชารัฐศาสตร์

๕. สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ

ระดับประกาศนียบัตร ๒ สาขา คือ

๑. ประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์

๒. ประกาศนียบัตรการสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ระดับปริญญาโท ๒ สาขา คือ

๑. สาขาวิชพระพุทธศาสนา

๒. สาขาวิชารัฐศาสตร์

 

รองอธิการบดีวิทยาเขตนครราชสีมา

๑. พระราชสีมาภรณ์ (โอภาส นิรุตฺติเมธี)              พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๔๐

(อธิการบดีวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา เทียบเท่ารองอธิการบดี

ปัจจุบัน พระธรรมวรนายก ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา)

๒. พระศรีธรรมาภรณ์ (ดำรง ทิฏฺฐธมฺโม)              พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๕๓

(ปัจจุบัน พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา)

๓. พระสุธีวรญาณ (รศ.ดร.ณรงค์ จิตฺตโสภโณ)        พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗

(ปัจจุบัน ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๑)

๔. พระราชสีมาภรณ์ (วันชัย กนฺตจารี)               พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน

(ปัจจุบัน รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา)

 

           ปรัชญาของมหาวิทยาลัย

“ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม”

         

ปรัชญาของวิทยาเขตนครราชสีมา

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน  โส  เสฏฺโฐ  เทวมานุเส.

ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ  เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์

 

ปณิธานของมหาวิทยาลัย

ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์

 

วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย

มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับชาติโดยการจัดการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ให้นำไปสู่การพัฒนาจิตใจและสังคมอย่างยั่งยืน

 

วิสัยทัศน์ของวิทยาเขตนครราชสีมา

พัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตนครราชสีมา ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศในพระไตรปิฎก  รอบรู้วิชาการชั้นสูง มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสเพื่อสนองงานพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม

         

พันธกิจของมหาวิทยาลัย

๑. ผลิตบัณฑิต

๒. ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ

ด้านพระพุทธศาสนา

๓. ให้บริการวิชาการในรูปแบบที่หลากหลาย

๔. ส่งเสริมการศึกษาผสมผสานทางวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมในประคมโลก

ด้านพระพุทธศาสนา

 

เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย      

                   :  บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา


อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

                   :  ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม


อัตลักษณ์ของบัณฑิต 

                   :  มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา

IMG_20150710_175602_HDR (Medium)