ความเป็นมาโครงการ

ความเป็นมาของโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

     กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมาตั้งแต่ปีงบ ประมาณ ๒๕๔๘-๒๕๕๐ โดยแรกเริ่มรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐บาท เพื่ออุดหนุน เป็นค่าใช้ จ่ายถวายพระสอนธรรมในโรงเรียนที่เข้าไปสอนในสถานศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับ อาชีวะศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประมาณ ๖๐๐ รูป ภายหลังต่อมาจากการที่กระทรวง-วัฒนธรรมได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และมีการประชุมร่วมกัน พบว่ากระทรวงศึกษาธิการ มีความต้องการพระสอน ฯ ไปสอนในโรงเรียนเฉพาะที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ไม่น้อยกว่า ๕๘,๐๗๓ รูป โดยเฉพาะโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ แห่ง 
     ดังนั้น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้วิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นและบริบทที่เกี่ยวข้องทุกด้านแล้วจึงได้มีแนวคิดว่าจะขยายพระสอนฯให้เข้าไปสอนโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกระทรวง ศึกษาธิการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คือ ๑ ตำบล ต่อ ๑พระสอนฯ โดยจะขยายเพิ่มขึ้นอีก ๔,๐๐๐ รูปเป็นการ นำร่อง จากนั้นได้เสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาลเพื่ออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายของพระสอน ฯ จำนวน ๔,๐๐๐ รูป รูปละ ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือน และเป็นค่าดำเนินการจัดทำหนังสือ อุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนการติดตาม ประเมินผลโครงการเพื่อให้สาธารณชนทั่วประเทศเห็นความสำคัญของพระสงฆ์ โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ผู้เรียนได้แก่ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนพระสอนฯให้มากขึ้นเป็น๒๐,๐๐๐,๐๐๐ รูป เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ตามเป้าหมายในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ กรมการศาสนาได้เปลี่ยน บทบาทการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่ ดำเนินการมาแต่เดิมไปสนับสนุนกิจกรรม คุณธรรมอื่นๆ โดยได้โอนภาระงานพร้อมงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการ รับดำเนินการ และได้มอบให้มหาวิทยาลัย-มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรับโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมาดำเนินการจัดเข้าในพันธกิจ ประเภทงานให้บริการวิชาการแก่ชุมชน โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ๕ หน่วยงาน ดังนี้ 
  ๑. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มีพระสงฆ์ที่มีความ พร้อมและมีพระที่สอนอยู่ในสถานศึกษาต่าง ๆ อยู่แล้ว 
  ๒. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีศึกษานิเทศก์และสถานศึกษา /โรงเรียนที่มีความต้องการพระสอนฯ 
    ๓. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมจังหวัดซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ ฯ มาแต่เริ่มแรก 
    ๔. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นผู้ส่งเสริมพระสอนฯ ที่เข้าไปทำการสอนในโรงเรียน 
    ๕. ภาคคณะสงฆ์ทั้ง ๑๘ ภาค มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดซึ่งปกครองดูแลพระสอน ฯ ทั่วประเทศ กระบวนการบริหารจัดการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 
   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อได้รับมอบโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนพร้อมทั้ง งบประมาณมาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานโครงการพระสอนฯ มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์ คือนักเรียนได้รับการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมจากพระสอน ฯ โดยตรง และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับ จึงได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับการดำเนินการโครงการ ฯ อย่างเป็นระบบ และได้ดำเนินการประสานงานกับคณะสงฆ์ สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการ ฯ และจัดอบรมถวาย ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพในการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของสถานศึกษา และเพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องพร้อมกับมีความประพฤติที่ดีงาม โดยได้จัดแผนการดำเนินการโครงการซึ่งมีกระบวนการบริหารโครงการดังนี้ 
      ๑.จัดประชุมคณะกรรมการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 
      ๒.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ/อำนวยการโครงกาพระสอน ฯ ทั่วประเทศ 
      ๓.การปฐมนิเทศพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ 
   ๔.การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเข้มข้นวิทยากรแกนนำโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 
      ๕.การอบรมพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 
    ๖.การจัดทำคู่มือ หนังสือการจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๔ และพัฒนาเว๊บไซต์โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 
      ๗.การวิจัย 
      ๘.การนิเทศ การติดตามประเมินผล 
      ๙. การจัดถวายค่าตอบแทน 
     ๑๐.การรับสมัคร/การคัดเลือกพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ

    สืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้รับโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มาบริหาร ต่อจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้มีประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ประกอบด้วย (๑) คณะกรรมการที่ปรึกษา (๒) คณะกรรมการอำนวยการ (๓) คณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผนงานโครงการ ฯ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการ ฯ เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในรอบ ๑ ปี คณะกรรมการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง 
พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ ๒๔ ชุดโดยสัมพันธ์กับภาคสงฆ์ประกอบด้วย ภาคกลาง ๒๓ จังหวัด ๖ ภาค มีคณะกรรมการอำนวยการดูแลชุดละ ๑ ภาค ในส่วนของวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน และหน่วยวิทยบริการรวม ๑๘ แห่งมีคณะกรรมการอำนวยการดูแลในแต่ละพื้นที่ ลงนามอนุมัติโดยอธิการบดีเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้งนี้ คณะกรรมการแต่ละชุดจะมีหน้าทีรับนโยบายแผนการดำเนินการจากคณะกรรมการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนของส่วนกลางมาปฏิบัติพร้อมทั้งอำนวยการโครงการพระสอน ฯ ในพื้นที่ได้รับผิดชอบประจำหน่วยงานของ ตนเองเพื่อควบคุมดูแล ส่งเสริม ภารกิจของโครงการ ฯ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการโครงการ ฯ ในแต่ละพื้นที่ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพร้อม ทั้งได้ประสานงานกับภาคสงฆ์และภาค รัฐพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง