บทความวิชาการนิสิต เรื่องบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครู

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครู

 

            พระบุนนา คนฺธธมฺโม

สามเณรสรศักดิ์ คำมะนาถ

สามเณรศรัญย์ กุลหงส์

 

 

 

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครู เป็นกิจที่ครูต้องทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งการกระทำของครูอาจจะเป็นไปโดยอาศัยหลักคุณธรรม จริยธรรม กฎหมาย หรือด้วยสำนึก ครูอาจารย์จะต้องปฏิบัติหน้าที่และมีความรับผิดชอบต่อการสอน ถ่ายทอดศิลปวิทยาการทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ศิษย์ เป็นกัลยาณมิตรขิงศิษย์ จะต้องคอบอบรมสั่งสอนให้ศิษย์ตั้งอยู่ในคุณธรรมความดีต่างๆ

 

ความหมายของบทบาท

คำว่าบทบาทเป็นคำที่อาจประกอบด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบอยู่ด้วย ได้มีผู้ให้ความหมายและอธิบายไว้ดังต่อไปนี้

ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๖ : ๖๐๒) ให้ความหมายของบทบาทเอาไว้ว่า บทบาท คือ การกระทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ เช่น บทบาทของพ่อแม่ บทบาทของครู เป็นต้น

Good (๑๙๗๓ : ๕๐๒) ได้ให้ความหมายของบทบาทเอาไว้ว่า บทบาท มีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกของแต่ละบุคคลในกลุ่มที่กำหนด

๒. แบบกระสวนพฤติกรรมหน้าที่ที่คาดหวัง หรือหน้าที่ที่บุคคลต้องกระทำให้บรรลุผลสำเร็จภาพใต้สภาพแวดล้อมที่สังคมกำหนด

ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงบทบาทของครู จึงหมายถึง ภาระที่ผู้เป็นครูต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีมากมาย เช่น ภาระที่ต้องพัฒนาเยาวชน ภาระที่ต้องพัฒนาสังคม อย่างไรก็ตามคำว่าบทบาทนี้มักจะใช้ควบคู่กับคำอีก ๒ คำ คือ ความว่าหน้าที่ และคำว่าความรับผิดชอบ หน้าที่ หมายถึง กิจที่ควรกระทำหรือกิจที่ต้องกระทำ ส่วนความรับผิดชอบนั้นย่อมเป็นผลที่ดีหรือไม่ดีในกิจที่ได้กระทำไป

กล่าวโดยสรุป บทบาททำให้เกิดภาระ ภาระทำให้เกิดหน้าที่ และหน้าที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบ เมื่อรวมความเข้าด้วยกันกลายเป็น บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ หมายถึง กิจที่บุคคลต้องกระทำให้สำเร็จตามตามคำสั่ง กฎหมาย หลักศีลธรรมคุณธรรม หรือด้วยจิตสำนึกในความถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครู จึงหมายถึง กิจที่ผู้เป็นครูจำเป็นต้องกระทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นความจำเป็นโดยอาศัยหลักศัลธรรม คุณธรรม จริยธรรม กฎหมาย หรือด้วยความสำนึกในความถูกต้องเหมาะสมก็ได้

 

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครูตามคำว่า TEACHERS

ยนต์ ชุ่มจิต (๒๕๕๓ : ๗๖-๘๓) ได้กล่าวถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครูตามคำว่า TEACHERS เอาไว้ดังต่อไปนี้

          ๑. T (teaching) การสอน

หมายความว่า ครูมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการสอนศิษย์ เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความสามารถในวิชาการทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งถือว่าเป็นงานหลักของผู้เป็นครูสอนทุกคน

          ๒. E (ethics) จริยธรรม

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการอบรม ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งของความเป็นครู

          ๓. A (academic) วิชาการ

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อวิชาการทั้งของตนเองและของนักเรียน ซึ่งความจริงแล้วงานของครูต้องเกี่ยวข้องกับวิชาการอยู่ตลอดเวลา เพราะวิชาชีพครูต้องใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการประกอบวิชาชีพ

          ๔. C (cultural heritage) การสืบทอดวัฒนธรรม

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการสืบทอดวัฒนธรรม การสอนศิลปะวิทยาการต่างๆ ให้กับลูกศิษย์นั้นย่อมถือว่าเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

          ๕. H (human relationship) การมีมนุษยสัมพันธ์

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ที่ครูต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย เพราะการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหมู่คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ต่อโรงเรียน

          ๖. E (evaluation) การประเมินผล

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการประเมินผลต่อการเรียนของศิษย์ งานของครูในด้านนี้ถือว่ามีความสำคัญมากอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการประเมินผลการเรียนการสอนเป็นการวัดความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ในด้านต่างๆ

          ๗. R (research) การวิจัย

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยการต้องพยายามหาความรู้ความจริงเพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนและแก้ปัญหาเกี่ยวกับตัวนักเรียน

          ๘. S (service) การบริการ

หมายความว่า ครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริการศิษย์และผู้ปกครอง แต่บางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชนในท้องถิ่นด้วย แต่โดยธรรมชาติแล้วงานบริการหลักของครูคือบริการให้ความรู้เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้แก่นักเรียน สำหรับครูนั้น นอกจากให้บริการนักเรียนแล้ว บางครั้งครูยังต้องให้บริการด้านคำปรึกษาหารือในด้านสุขภาพอนามัยแก่ชุมชน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนรอบๆ โรงเรียนอีกด้วย

 

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครูตามหลักพระพุทธศาสนา

พระราชวรมุนี [ป.อ. ปยุตฺโต] (๒๕๒๘ : ๕๓,๕๕,๕๗) ได้กล่าวถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครูตามหลักพระพุทธศาสนาเอาไว้ว่า บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครูตามหลักพระพุทธศาสนาโดยยึดหลักทิศ ๖ เป็นหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ๑. หน้าที่ของครูอาจารย์ที่พึงกระทำต่อศิษย์

๑.๑ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี

๑.๒ สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๑.๓ สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

๑.๔ ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ

๑.๕ สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ

            ๒. หน้าที่ของศิษย์พึงปฏิบัติต่อครูอาจารย์

๒.๑ ลุกขึ้นต้อนรับเมื่อครูอาจารย์เข้ามาหา

๒.๒ เข้าไปหาเพื่อบำรุง คอยรับใช้ ขอคำปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ

๒.๓ ใฝ่ใจเรียน มีใจรักและศรัทธาในการเรียน

๒.๔ ปรนนิบัติรับใช้ ช่วยบริการ

๒.๕ เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

 

สรุป

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของครู เป็นกิจที่ครูต้องทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ครูอาจารย์จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการสอน การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ต้องปฏิบัติงานวิชาการ มีการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลต่างๆ ประเมินผลการเรียนการสอน ทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในการเรียนการสอน และบริการสังคม ครูตามหลักทางพระพุทธศาสนามี ๒ ด้านใหญ่ๆ ที่ต้องปฏิบัติ คือ ประการแรก ต้องทำหน้าที่เป็นสิปปทายก คือเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สิลปวิทยาการต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ศิษย์ ประการที่สอง ครูทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของศิษย์ คือต้องคอยอบรมสั่งสอนตักเตือนให้ศิษย์ตั้งอยู่ในคุณธรรมความดีต่างๆ รู้คุณรู้โทษ

 

บรรณานุกรม

 

พระราชวรมุนี [ป.อ. ปยุตฺโต]. (๒๕๒๘). ปรัชญาการศึกษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓.

กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศาสนา.

ยนต์ ชุ่มจิต. (๒๕๕๓). ความเป็นครู. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : โอเดียสโตร์.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๖). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.

กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั้นส์.

Good. (๑๙๗๓). Dictionary of Education. New York : McGraw-Hillbook Company.